อำเภอดอกคำใต้
ดอกคำใต้ คือ ดอกกระถินสีเหลือง
ซึ่งเป็นต้นไม้ขนาดย่อม มีลักษณะเป็นพุ่มใบเล็กเป็นฝอย ดอกสีเหลืองทอง
มีกลิ่นหอมกรุ่นละไม ช่วงเดือนสิงหาคมไปจนถึงปีใหม่ ดอกคำใต้ก็จะผลิดอกเหลืองสะพรั่งไปทั้งต้น
งดงามมาก
วนอุทยานบ้านถ้ำ
ตำบลบ้านถ้ำ ตามเส้นทางสายดอกคำใต้-เชียงม่วน
ระยะทาง 14 กิโลเมตร จากตัวอำเภอ เป็นสถานที่อันร่มรื่นเหมาะสำหรับการพักผ่อน
และในบริเวณเดียวกันนั้นยังประดิษฐาน พระธาตุจอมศีล ตั้งอยู่บนเชิงเขาเป็นปูชนียสถานสำคัญแห่งหนึ่งของดอกคำใต้มาช้านาน
เมื่อขึ้นไปถึงบนลานพระธาตุแล้ว จะมองเห็นทิวทัศน์อำเภอดอกคำใต้อย่างสวยงาม
และชาวอำเภอดอกคำใต้จะมีงานประเพณีไหว้พระธาตุจอมศีล ในวันมาฆบูชา
และวันสงกรานต์
อุทยานแห่งชาติดอยภูนาง
ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอดอกคำใต้ อำเภอปง
และอำเภอเชียงม่วน มีพื้นที่ทั้งหมด 462,775 ไร่ พื้นที่ประกอบไปด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อน
สภาพป่าโดยทั่วไปเป็นป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง
อุทยานแห่งชาติดอยภูนางมีสถานที่ที่น่าสนใจและยังเป็นอุทยานที่สำคัญอีกที่หนึ่งเพราะมีสัตว์ต่างๆ
อาศัยอยู่เช่น ตะพาบน้ำ ตะกวด นกชนิดต่างๆ โดยเฉพาะนกยูง
นกยูงฝูงนี้จะเดินทางระหว่างแก่งเสือเต้น (อุทยานแห่งชาติแม่ยม)
และอุทยานแห่งชาติภูนาง โดยมาที่นี่ในฤดูผสมพันธุ์ที่นี่
ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคมของทุกปี ใกล้กับที่ทำการอุทยานฯมีทางเดินเท้าจากที่ทำการไปยังน้ำตก
300 เมตร มีชื่อว่าน้ำตกธารสวรรค์ มีความกว้างของน้ำตกถึง
40 เมตร มีร้านค้าไว้บริการ ถ้าต้องการจะพักค้างแรมที่อุทยานแห่งชาติภูนางก็ให้นำเต๊นท์ไปด้วยการเดินทาง
ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1021 ถึงอำเภอดอกคำใต้ เลี้ยวขวาเข้าถนนหมายเลข
1251 ระยะทาง 48 กิโลเมตร เลี้ยวขวาไปอีก 4 กิโลเมตร
อำเภอจุน
โบราณสถานเวียงลอ
(เมืองพระลอ) อยู่ห่างจากอำเภอจุน ตามทางหลวงหมายเลข
1021 ถึงบ้านห้วยงิ้ว ประมาณ 17 กิโลเมตร มีทางแยกไปเป็นทางดินถึงบ้านน้ำจุนอีกประมาณ
12 กิโลเมตร นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าคงเป็นเมืองในสมัยพ่อขุนงำเมือง
เพราะปรากฏซากกำแพงเมืองเก่า วัดร้าง อยู่มากมาย พระธาตุและวัดเก่าแก่คือ
วัดศรีปิงเมือง และใกล้เวียงลอนี้ยังเป็นจุดที่ลำน้ำจุน
ไหลลงสู่แม่น้ำอิงด้วย จึงเรียก
บริเวณนี้ว่า “สบอิง”
วัดพระธาตุขิงแกง
ห่างจากอำเภอจุนตามทางหลวงหมายเลข 1091 ถึงบ้านธาตุขิง-
แกงประมาณ 10 กิโลเมตร แยกขวาเป็นทางเดินไปอีก 300 เมตร
ถึงตัววัดตั้งอยู่บนเนินเขาธาตุขิงแกงซึ่งสามารถมองเห็นทัศนียภาพของหมู่บ้านขิงแกงได้อย่างชัดเจน
องค์พระธาตุมีรูปทรงแบบล้านนาคล้ายพระธาตุสบแวนที่อำเภอเชียงคำ
แต่ขนาดใหญ่และมีการตกแต่งมากกว่า
อำเภอเชียงคำ
เป็นอำเภอหนึ่งที่มีความเจริญทัดเทียมกับอำเภอเมือง
มีแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติและโบราณสถานวัดวาอารามที่มีความสวยงามหลายแห่ง
วัดพระนั่งดิน
อยู่ในตำบลเวียง ไปตามทางหลวง 1148 ห่างจากตัวอำเภอ
4 กิโลเมตร เป็นวัดที่องค์พระประธานของวัดไม่มีฐานชุกชีรองรับเหมือนกับพระประธานองค์อื่นๆ
เคยมีราษฎรสร้างฐานชุกชีเพื่ออัญเชิญพระประธานขึ้นประดิษฐาน
แต่ปรากฏว่าพยายามยกเท่าไรก็ยกไม่ขึ้น จึงเรียกสืบต่อกันมาว่า
พระนั่งดิน
อนุสรณ์ผู้เสียสละ
พ.ต.ท. 2324 อยู่ห่างจากตัวอำเภอเชียงคำ
ตามทางหลวง 1021 ไปประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นอนุสรณ์สถานที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงวีรกรรมของพลเรือน
ตำรวจ ทหารที่ได้พลีชีพในการสู้รบเพื่อรักษาอธิปไตยในพื้นที่ชายแดนจังหวัดพะเยาและเชียงราย
นอกจากนั้นยังจัดเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงภาพถ่ายรูปจำลองและอาวุธยุโธปกรณ์ที่เคยใช้ต่อสู้ในการรบครั้งนั้นไว้ด้วย
เปิดให้เข้าชมในวันเวลาราชการ
วัดพระธาตุสบแวน
อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอ 4 กิโลเมตร มีองค์พระธาตุเจดีย์ที่มีอายุเก่าแก่มาก
คาดว่าอายุราว 800 ปี ภายในบรรจุเส้นพระเกศา และกระดูกส่วนคางของพระพุทธเจ้า
องค์พระธาตุได้รับการบูรณะมาแล้วหลายครั้ง แต่ยังคงรักษาสภาพศิลปะแบบล้านนาไทยไว้ได้
วัดนันตาราม
อยู่ที่บ้านดอนไชย เขตสุขาภิบาลเชียงคำ
เป็นวัดที่มีศิลปะแบบพม่า ตัววิหารสร้างด้วยไม้สักทั้งหลังตกแต่งลวดลายฉลุไม้อย่างสวยงามตามส่วนประกอบต่างๆ
เช่น หน้าต่าง หน้าบันระเบียง เป็นต้น
ศูนย์วัฒนธรรมไทยลื้อ
ตั้งอยู่ที่วัดหย่วนในอำเภอเชียงคำ จัดตั้งเป็นศูนย์แสดงผลงานทางศิลปวัฒนธรรม
และฝึกอาชีพของชาวไทยลื้อ โดยเฉพาะผ้าของชาวไทยลื้อที่มีลวดลายและสีสันสดใส
ในอดีตชาวไทยลื้อมีถิ่นอาศัยอยู่ในเขตสิบสองปันนามณฑลยูนาน
ประเทศสาธารณะรัฐประชาชนจีน มีพื้นที่ประมาณ 25,000 ตารางกิโลเมตร
พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเขามีที่ราบแคบๆอยู่ตามหุบเขาและลุ่มแม่น้ำอันเป็นบริเวณที่อยู่อาศัยและที่ทำมาหากินของชาวไทลื้อ
โดยเฉพาะการทำนาที่ลุ่มเช่นเดียวกับคนไทยทั่วไป มีแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่ไหลผ่านแคว้นสิบสองปันนา
ซึ่งชาวไทยลื้อเรียกว่า “แม่น้ำของ” ในปี พ.ศ. 2399 เจ้าสุริยพงษ์
ผริตเดช ผู้ครองนครน่านได้อพยพมามาอยู่ที่บ้านท่าฟ้าเหนือและท่าฟ้าใต้อำเภอเชียงม่วน
หลังจากนั้นมีบางส่วนได้อพยพมาอยู่ที่อำเภอเชียงคำ ชาวไทลื้อมีอุปนิสัยรักสงบ
ขยันอดทน นอกจากนั้นยังเป็นผู้ที่อนุรักษ์วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมไว้อย่างดี
เช่น วัฒนธรรมการแต่งกาย เป็นต้น |