อำเภอโนนดินแดง
อนุสาวรีย์เราสู้
อยู่ที่อำเภอโนนดินแดง ริมทางสายละหานทราย-ตาพระยา
(ทางหลวงหมายเลข 348) สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2522 เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของประชาชน
ตำรวจ ทหาร ที่เสียชีวิตจากการต่อสู้ผู้ก่อการร้ายที่ขัดขวางการสร้างเส้นทางยุทธศาสตร์สายนี้
เขื่อนลำนางรอง
ตั้งอยู่แยกจากอนุสาวรีย์เราสู้ไป 200 เมตร
เป็นพื้นที่โครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงตามพระราชดำริ เขื่อนลำนางรองเป็นเขื่อนดิน
มีถนนลาดยางบนสันเขื่อนสำหรับชมทัศนียภาพ และมีร้านอาหารที่ตั้งอยู่ริมอ่างเก็บน้ำ
นอกจากเขื่อนนี้จะเก็บน้ำไว้ใช้ในด้านการเกษตรแล้ว ยังได้รับการปรับปรุงเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
มีบ้านพักรับรอง ห้องประชุม และค่ายพักแรม ติดต่อสำนักงานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำนางรองซึ่งอยู่ก่อนถึงสันเขื่อนในเวลาราชการ
โทร. (044) 606336 ในบริเวณเดียวกันยังมีโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป
(ดอยคำ) ผลิตผักผลไม้กระป๋องอาทิ ข้าวโพดอ่อน หน่อไม้ และน้ำมะเขือเทศ
ปราสาทหนองหงส์
อยู่ทางด้านซ้ายของแนวสันเขื่อนลำนางรอง ห่างจากตัวเขื่อนประมาณ
500 เมตร เป็นโบราณสถานขนาดเล็กประกอบด้วยปรางค์ 3 องค์ ก่อด้วยอิฐ
ตั้งบนฐานก่อด้วยศิลาแลงต่อเนื่องเป็นฐานเดียวกัน หันหน้าไปทางทิศตะวันออกมีประตูเข้า-ออกทางด้านหน้าอีก
3 ด้าน เป็นประตูหลอก ปรางค์ทั้งสามมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมไม้สิบสอง
องค์กลางขนาดใหญ่กว่าสององค์ที่ขนาบข้าง แต่เดิมเคยมีทับหลังประดับจำหลักลายอย่างสวยงาม
คือ องค์ทิศเหนือสลักเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑเหนือหน้ากาล
ซึ่งมือยึดท่อนพวงมาลัยแวดล้อมด้วยลายพันธุ์พฤกษา อีก 2 องค์ที่เหลือ
คือ องค์กลางและองค์ด้านทิศใต้ก็มีลักษณะคล้ายกันต่างกันที่ภาพตรงกลาง
คือ ทับหลังปรางค์องค์กลางสลักเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ
องค์ทิศใต้เป็นรูปพระอิศวรทรงโค ด้านหน้าของปรางค์องค์กลาง
มีทางเดินยื่นยาวออกไป มีบันไดทางด้านหน้าและด้านข้างทั้งสอง
นอกจากนี้ยังมีวิหารหรือบรรณาลัยอีก 1 หลัง ก่อด้วยศิลาแลงหันหน้าเข้าหาปรางค์องค์ทิศใต้
อาคารทั้งหมดล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลง มีซุ้มประตูด้านหน้าและด้านหลัง
มีคูน้ำรูปตัวยู (U) ล้อมรอบอีกทีหนึ่ง การกำหนดอายุ สมัยของปราสาทนั้น
กำหนดจากลักษณะการก่อสร้าง และศิลปกรรมที่พบซึ่งตรงกับ ศิลปะเขมรแบบบาปวน
ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16
อำเภอสตึก
พระพุทธรูปใหญ่
(พระพุทธรูปปฎิมาสันตยาภิรมย์สตึกอุดมราษฎรนิมิตมนิน)
เป็นพระยืนขนาดใหญ่ริมแม่น้ำมูล ตรงข้ามที่ว่าการอำเภอสตึก
เป็นที่เคารพสักการะของชาวสตึกและจังหวัดใกล้เคียง ในช่วงงานงานประเพณีแข่งเรือยาวซึ่งจัดที่อำเภอสตึกมีทั้งชาวเรือและผู้มาเที่ยวงานแวะมานมัสการพระพุทธรูปใหญ่กันเป็นจำนวนมาก
อำเภอพุทไธสง
พระเจ้าใหญ่วัดหงษ์
เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ปางสมาธิขนาดหน้าตัก
1.6 เมตร สูง 2 เมตร สร้างด้วยศิลาแลง มีลักษณะของศิลปะพื้นเมือง
ประดิษฐานอยู่ที่วัดหงษ์ หรือวัดศีรษะแรด เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนจำนวนมาก
นอกจากนี้ ยังพบพระพิมพ์รูปใบขนุน รวมปาง สำริด และพระพุทธรูปแกะสลักจากนอแรดที่ใต้ฐาน
พระเจ้าใหญ่ด้วย ในวันขึ้น 14 ค่ำ หรือวันแรม 1 ค่ำ เดือน
3 ของทุกปี จะจัดงานเฉลิมฉลองขึ้น โดยมีชาวอำเภอพุทไธสง และจังหวัดต่างๆ
ไปนมัสการกราบไหว้เป็นจำนวนมาก ที่เรียกว่า พระเจ้าใหญ่
ในภาษาไทยอีสาน มิใช่เพราะเป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่ แต่หมายถึงความยิ่งใหญ่
ความศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะการสาบานและอธิษฐาน เล่ากันว่า ผู้ที่ผิดคำสาบานมักได้รับภัยพิบัติต่าง
ๆ จึงมีผู้ไปสาบานงดเว้นอบายมุขเลิกดื่มสุราและสักการะกราบไว้ขอให้คุ้มครองรักษาอยู่มิได้ขาด
การเดินทางไปวัด จากตลาดพุทไธสง
ถึงทางแยกเลี้ยวขวา ใช้เส้นทางที่จะไปพยัคฆภูมิพิสัย ระยะทางประมาณ
1 กิโลเมตร และมีทางแยกเข้าวัดอีก 2 กิโลเมตร
อำเภอนาโพธิ์
หมู่บ้านทอผ้าไหมอำเภอนาโพธิ์
การเดินทางใช้เส้นทางสายบุรีรัมย์-พุทไธสง
ทางหลวงหมายเลข 2074 ไปบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 202 บริเวณกิโลเมตรที่
21 มีทางแยกเข้าตัวอำเภอนาโพธิ์ เป็นระยะทาง 10 กิโลเมตร เป็นแหล่งทอผ้าไหมโดยเฉพาะผ้าไหมมัดหมี่
ได้รับความสนับสนุนช่วยเหลือในด้านการพัฒนาฝีมือให้ได้มาตรฐานทั้งรูปแบบ
วิธีการผลิต ลวดลาย การให้สี จากศูนย์ศิลปาชีพพิเศษ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
พระบรมราชินีนาถ
อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์
กู่สวนแตง
ตั้งอยู่ตรงข้ามโรงเรียนกู่สวนแตงวิทยาคม
บ้านดอนหวาย ตำบลดอนหวาย การเดินทางจะใช้เส้นทางบุรีรัมย์-พยัคฆภูมิพิสัย
ทางหลวงหมายเลข 219 ระยะทาง 70 กิโลเมตร แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข
202 ทางไปอำเภอประทายอีกประมาณ 40 กิโลเมตร จะพบทางแยกเข้าสู่กู่สวนแตงด้านซ้ายมือ
เลี้ยวเข้าไปอีก 1.5 กิโลเมตร หรือจากบุรีรัมย์ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข
2074 ผ่านอำเภอคูเมือง ไปอำเภอพุทไธสง แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข
202 ไปอีก 20 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้ากู่สวนแตงอีก 1.5 กิโลเมตร
กู่สวนแตงเป็นโบราณสถานแบบขอมอีกแห่งหนึ่ง
ซึ่งประกอบด้วยปรางค์อิฐ 3 องค์ ตั้งเรียงในแนวเหนือ-ใต้ บนฐานศิลาแลงเดียวกัน
อาคารทั้งหมดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีประตูหน้าเพียงประตูเดียว
อีก 3 ด้านสลักเป็นประตูหลอก ปรางค์องค์กลางมีขนาดใหญ่และมีสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส
ด้านหน้าที่มุขยื่นออกมาเล็กน้อย ตรงหน้าบันเหนือประตูหลอกทั้ง
3 ด้าน มีลักษณะยื่นออกมาและมีแผ่นศิลาทรายรองรับ ส่วนปรางค์อีก
2 องค์ มีขนาดเล็กกว่า ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีประตูเดียวทางด้านหน้าเช่นกัน
ส่วนผนังอีก 3 ด้าน ก่อเรียบทึบสำหรับบนพื้นหน้าปรางค์มีส่วนประกอบสถาปัตยกรรมหินทรายอื่นๆ
ตกหล่นอยู่ เช่น ฐานบัวยอดปรางค์ กลีบขนุนรูปนาค 6 เศียร อายุของกู่สวนแตงสามารถกำหนดได้จากทับหลังของปรางค์
ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครและที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย
มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 เนื่องจากภาพสลักบนทับหลังทั้งหมดมีลักษณะตรงกับศิลปะขอมแบบนครวัด
ที่มีอายุอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าว อาทิ ทับหลังสลักภาพพระนารายณ์ตรีวิกรม
(ตอนหนึ่งในวามนาวตาร แสดงภาพพระนารายณ์ย่างพระบาท 3 ก้าว
เหยียบโลกบาดาล โลกมนุษย์ และโลกสวรรค์) ทับหลังภาพศิวนาฏราช
ทับหลังภาพการกวนเกษียรสมุทร ทับหลังภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์
ฯลฯ แต่ละชิ้นมีขนาดใหญ่สวยงามน่าสนใจยิ่ง |