ดอยแม่สลอง เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านสันติคิรี เดิมชื่อบ้านแม่สลองนอก เป็นชุมชนผู้อพยพจากกองพล ๙๓ ซึ่งอพยพจากประเทศพม่าเข้ามาในเขตไทย จำนวนสองกองพันคือ กองพันที่ ๓ เข้ามาอยู่ที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และกองพันที่ ๕ อยู่ที่บ้านแม่สลองนอก ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๔ ในเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ ดอกนางพญาเสือโคร่ง ซึ่งเป็นซากุระพันธุ์ที่เล็กที่สุด สีชมพูอมขาว จะบานสะพรั่งตลอดแนวทางขึ้นดอยแม่สลอง เป็นพันธุ์ไม้ที่หาชมได้ยากในเมืองไทย เพราะเจริญเติบโตอยู่แต่เฉพาะในภูมิอากาศหนาวจัดเท่านั้น การเดินทาง ใช้เส้นทางเชียงราย-แม่จัน เลยจากอำเภอแม่จันไป ๑ กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายไป ๑๒ กิโลเมตร ถึงศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา เลยจากศูนย์ฯ ไปอีก ๑๑ กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านผาเดื่อ ซึ่งเป็นจุดแวะชมและซื้อหัตถกรรมชาวเขา จากนั้นเดินทางจากบ้านเย้าถึงบ้านอีก้อสามแยก ทางขวาไปหมู่บ้านเทอดไทย ส่วนแยกซ้ายไปดอยแม่สลอง ระยะทาง ๑๘ กิโลเมตร รวมระยะทางจากเชียงราย ๔๒ กิโลเมตร เป็นทางลาดยางตลอดสาย และจากดอยแม่สลองมีถนนเชื่อมต่อไปถึงบ้านท่าตอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ระยะทาง ๔๕ กิโลเมตร ในกรณีไม่ได้ขับรถมาเองให้ขึ้นรถประจำทางจากตัวเมืองเชียงรายไปต่อรถสองแถวที่ปากทางขึ้นดอยแม่สลอง จุดน่าสนใจบนดอยแม่สลอง : ชมไร่ชาและศึกษาวิธีการผลิตชา ขี่ม้าชมทิวทัศน์รอบหมู่บ้านอาข่า(หมู่บ้านเจียงจาใส) และอนุสรณ์สถานอดีตทหารจีนคณะชาติภาคเหนือ ประเทศไทย ศึกษาเรื่องราว ประวัติของชาวดอยแม่สลอง มีไกด์นำชม เปิดบริการทุกวัน เวลา ๐๘.๐๐-๑๗.๐๐ น. ค่าเข้าชม ๒๐ บาท โทร. ๐ ๕๓๗๖ ๕๑๗๐, ๐ ๕๓๗๖ ๕๑๘๐ บ้านเทอดไทย เดิมเรียกว่า บ้านหินแตก อยู่ห่างจากเชียงราย ๖๖ กิโลเมตร ใน พ.ศ. ๒๕๑๑ ขุนส่าเคยเข้ามาใช้เป็นฐานที่มั่นในฐานะผู้นำกองทัพกู้ชาติไต ขุน เป็นคำที่ประชาชนรัฐฉานเรียกบุคคลที่ให้ความเคารพนับถือ แต่ชาวโลกรู้จักขุนส่าดีในชื่อ ราชาเฮโรอีน ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๙-๒๕๒๕ ขุนส่าได้ใช้บ้านหินแตกเป็นฐานที่มั่นอย่างถาวรและกระทำการผิดกฎหมาย จนทางรัฐบาลไทยต้องใช้กำลังผลักดันให้ออกไปจากประเทศไทย คงทิ้งไว้แต่อดีตที่เหลืออยู่ เช่น บ้านพักที่ขุนส่าใช้เป็นศูนย์บัญชาการ นอกจากนี้บ้านเทอดไทยยังเป็นที่อยู่ของชุมชนชาวเขาหลายเผ่าซึ่งสามารถพบเห็นได้ในตลาดยามเช้า ดอยหัวแม่คำ อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๘๕๐ เมตร จากเชียงรายใช้เส้นทางเดียวกับทางขึ้นดอยแม่สลองสายเก่า ทางหลวงหมายเลข ๑๑๓๐ แล้วเลี้ยวขวาที่สามแยกอีก้อ ผ่านบ้านเทิดไทย ไปจนถึงบ้านแม่คำ ห่างจากตัวเมืองเชียงราย ๑๐๐ กิโลเมตร บ้านหัวแม่คำอยู่เกือบสุดชายแดน เส้นทางเป็นทางลูกรังคดโค้งไปตามทิวเขา ใช้เวลาเดินทางราว ๓ ชั่วโมง ดอยหัวแม่คำเป็นที่ตั้งหมู่บ้านชาวเขาขนาดใหญ่ ประกอบด้วยเผ่าลีซอ เป็นกลุ่มชนส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังมีอีก้อ ม้งและมูเซอ ในช่วงเวลาซึ่งตรงกับตรุษจีนของทุกปี ชาวลีซอจะจัดงานประเพณีกินวอ ซึ่งเปรียบเสมือนวันขึ้นปีใหม่ ในวันนั้นชาวลีซอแต่งกายสวยงาม มีการกินเลี้ยง เต้นระบำ ๗ วัน ๗ คืน และในเดือนพฤศจิกายนเป็นช่วงที่ดอยหัวแม่คำงดงามไปด้วยดอกบัวตองสีเหลืองสดใสสะพรั่งอยู่ทั่วไปตามแนวเขา เป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นและทะเลหมอก บนดอยมีบริการบ้านพักติดต่อเกษตรที่สูงหัวแม่คำ โทร. ๐ ๕๓๙๑ ๘๑๐๑ หรือคุณมาลี ๐ ๕๓๖๐ ๙๑๐๖, ๐ ๖๑๙๒ ๐๑๗๐, ๐ ๗๑๙๒ ๐๕๕๑ หลังละ ๓๐๐-๕๐๐ บาท มี ๔ หลัง พระตำหนักดอยตุง เคยเป็นที่ประทับแปรพระราชฐานเพื่อทรงงานของสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี มีรูปทรงผสมผสานระหว่างศิลปะล้านนากับชาเลย์ของประเทศสวิสเซอร์แลนด์ มีการแกะสลักไม้ตามกาแล เชิงชายและขอบหน้าต่างเป็นลวดลายต่าง ๆ โดยฝีมือช่างชาวเหนือ รอบ ๆ พระตำหนักมีสวนดอกไม้หลากพันธุ์ หลายสี ให้ความสวยงามสดชื่น โดยเฉพาะในฤดูหนาวจะเห็นหมอกจาง ๆ บริเวณยอดเขารอบ ๆ พระตำหนัก มีเจ้าหน้าที่นำชมเป็นรอบ ๆ ละ ๒๐ นาที เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา๐๗.๐๐-๑๗.๓๐ น. ค่าเข้าชม ๗๐ บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. ๐ ๕๓๗๖ ๗๐๑๕-๗ สวนแม่ฟ้าหลวง อยู่ด้านหน้าพระตำหนักดอยตุง มีเนื้อที่ประมาณ ๑๐ ไร่ เป็นสวนดอกไม้เมืองหนาว อาทิ ดอกซัลเวีย พิทูเนีย บีโกเนีย กุหลาบ ดอกลำโพง ไม้มงคลต่าง ๆ ไม้ยืนต้นและซุ้มไม้เลี้อยอีกมากกว่า ๗๐ ชนิด รูปปั้นต่อเนื่อง ฝีมือของคุณมีเซียม ยิบอินซอย เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา ๐๖.๓๐-๑๘.๐๐ น. ค่าเข้าชม ๘๐ บาท และ หอพระราชประวัติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชนนี เป็นอาคารแสดงพระราชประวัติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีห้องจัดแสดงนิทรรศการ ๘ ห้อง เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา ๐๗.๐๐-๑๗.๐๐ น. ค่าเข้าชม ๓๐ บาท นอกจากนั้นยังมีร้านขายของที่ระลึก เสื้อผ้าไหม ผลิตภัณฑ์จากโครงการหลวงทั้งผักผลไม้ ดอกไม้ พันธุ์ไม้ต่าง ๆ ให้ซื้อกลับไปเป็นของฝาก นักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้าชมทั้ง พระตำหนักดอยตุง สวนแม่ฟ้าหลวง และหอพระราชประวัติฯ จำหน่ายบัตรรวม ราคา ๑๕๐ บาท ซุ้มจำหน่ายบัตรเปิดเวลา ๐๖.๓๐-๑๘.๐๐ น. หลังเวลา ๑๗.๐๐ น. จำหน่ายเฉพาะบัตรชมพระตำหนักและสวนแม่ฟ้าหลวง สถูปดอยช้างมูบและสวนรุกขชาติช้างมูบ บนดอยช้างมูบ ริมถนนสายพระธาตุดอยตุง บ้านผาหมี ห่างจากทางแยกวัดน้อยดอยตุงประมาณ ๔ กิโลเมตร เป็นจุดชมวิวที่สูงที่สุดของดอยตุง มีพระสถูปช้างมูบ เป็นเจดีย์ขนาดเล็กตั้งอยู่บนก้อนหินขนาดใหญ่มีลักษณะเหมือนช้างหมอบอยู่ สภาพโดยรอบเป็นต้นโพธิ์ใหญ่ ต้นสนซึ่งใช้ปลูกเพื่ออนุรักษ์ดินและต้นน้ำ และภายในสวนรุกขชาติฯ ชมกุหลาบพันปีจากหลายทวีป ค่าเข้าชม ๕๐ บาท พระธาตุดอยตุง ตั้งอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ ๑๗.๕ บนทางหลวงหมายเลข ๑๑๔๙ เป็นที่บรรจุพระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) ของพระพุทธเจ้านำมาจากมัธยมประเทศ นับเป็นครั้งแรกที่พระพุทธ ศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ได้มาประดิษฐานที่ล้านนาไทย เมื่อก่อสร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุนี้ ได้ทำธงตะขาบ (ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า ตุง) ใหญ่ยาวถึงพันวา ปักไว้บนยอดดอย ถ้าหากปลายธงปลิวไปไกลถึงเมืองไหน ก็จะกำหนดเป็นฐานพระสถูป เหตุนี้ดอยซึ่งเป็นที่ประดิษฐานปฐมเจดีย์แห่งล้านนาไทย จึงปรากฏนามว่า ดอยตุง พระธาตุดอยตุงเป็นปูชนียสถานที่สำคัญ เมื่อถึงเทศกาลนมัสการพระธาตุดอยตุงจะมีพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและเพื่อนบ้านจากประเทศใกล้เคียง เช่น ชาวเชียงตุงในรัฐฉาน สหภาพพม่า ชาวหลวงพระบาง เวียงจันทน์ เดินทางเข้ามานมัสการทุกปี
อำเภอแม่สาย อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงราย ๖๑ กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข ๑๑๐ เป็นอำเภอเหนือสุดของประเทศไทย ติดกับจังหวัดท่าขี้เหล็กของพม่า โดยมีแม่น้ำแม่สายเป็นพรมแดน มีสะพานเชื่อมเมืองทั้งสองเข้าด้วยกัน ทั้งชาวไทยและชาวพม่าเดินทางไปมาหาสู่ค้าขายกันได้โดยเสรี นักท่องเที่ยวชาวไทยนิยมเดิน ทางไปยังตลาดชายแดนแม่สายและท่าขี้เหล็กของพม่า เพื่อซื้อสินค้าพื้นเมืองและสินค้าราคาถูก เช่น สบู่พม่าสมุนไพร เครื่องทองเหลือง ตะกร้า การข้ามไปท่าขี้เหล็กนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางเข้าเขตประเทศพม่าได้ทุกวัน ระหว่างเวลา ๐๖.๓๐-๑๘.๐๐ น. โดยใช้บัตรประชาชน หรือบัตรอื่น ๆ ที่ทางราชการออกให้ ค่าบริการคนละ ๓๐ บาท ค่าผ่านแดนเข้าพม่า ๑๐ บาท สินค้าที่ไม่อนุญาตให้ซื้อเข้าไทย ได้แก่ สินค้าจากซากสัตว์ป่า สุรา บุหรี่ต่างประเทศและซีดีอนาจาร หากซื้อมาเพื่อการค้าต้องเสียภาษีนำเข้าให้ถูกต้องด้วย ด่านตรวจคนเข้าเมืองแม่สาย โทร. ๐ ๕๓๗๓ ๑๐๐๘ อำเภอแม่สาย โทร. ๐ ๕๓๗๓ ๓๒๓๓, ๐ ๕๓๗๓ ๑๓๙๖ พระธาตุดอยเวา หมู่ที่ ๑ ตำบลแม่สาย บนดอยริมฝั่งแม่น้ำแม่สาย ตามประวัติกล่าวว่า พระองค์เวาหรือเว้าผู้ครองนครนาคพันธ์โยนก เป็นผู้สร้างเพื่อบรรจุพระเกศาธาตุองค์หนึ่งเมื่อ พ.ศ. ๓๖๔ นับเป็นพระบรมธาตุที่เก่าแก่องค์หนึ่งรองมาจากพระบรมธาตุดอยตุง ถ้ำผาจม หมู่ที่ ๑ ตำบลแม่สาย อยู่ห่างจากอำเภอแม่สายไปทางทิศเหนือประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร ถ้ำผาจมตั้งอยู่บนดอยอีกลูกหนึ่ง ทางทิศตะวันตกของดอยเวา ติดกับแม่น้ำสาย เคยเป็นสถานที่ซึ่งพระภิกษุสงฆ์นั่งบำเพ็ญเพียรภาวนา เช่น พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ปัจจุบันมีรูปปั้นของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ประดิษฐานไว้บนดอยด้วย ภายในถ้ำผาจมมีหินงอกหินย้อยอยู่ตามผนังและเพดานถ้ำ สวยงามวิจิตรตระการตา ถ้ำปุ่ม ถ้ำปลา ถ้ำเสาหินพญานาค ตั้งอยู่ที่ดอยจ้อง หมู่ที่ ๑๑ ตำบลโป่งผา ห่างจากอำเภอแม่สายไปทางทิศใต้ตามทางหลวงหมายเลข ๑๑๐ ประมาณ ๑๒ กิโลเมตร มีทางแยกเข้าไปอีกประมาณ ๒ กิโลเมตร ดอยจ้องเป็นภูเขาหินปูน จึงประกอบด้วย ถ้ำหินงอก หินย้อย และทางน้ำไหลมากมาย ถ้ำปุ่ม อยู่สูงขึ้นไปบนยอดเขา ต้องปืนขึ้นไป ภายในถ้ำมืดมาก ต้องมีผู้นำทาง ถ้ำปลา เป็นถ้ำหนึ่งที่มีน้ำไหลภายในถ้ำ เคยมีปลาชนิดต่าง ๆ ทั้งใหญ่น้อยว่ายออกมาให้เห็นเป็นประจำ ภายในถ้ำยังมีพระพุทธรูปศิลปะพม่า สร้างขึ้นโดยพระภิกษุชาวพม่า ประชาชนทั่วไปเรียกว่า พระทรงเครื่อง เป็นที่เลื่อมใสของประชาชนในแถบนี้ ถ้ำเสาหินพญานาค อยู่ในบริเวณเดียวกัน เดิมต้องพายเรือข้ามน้ำเข้าไปชม ภายหลังได้สร้างทางเดินเชื่อมกับถ้ำปลา ระยะทาง ๑๕๐ เมตร ภายในถ้ำมีหินงอก หินย้อย และยังเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมด้วย
Hotline 0-936468915, 0-823656241 (ใบอนุญาตนำเที่ยวเลขที่ 11/5028)