อำเภอเมือง หลวงพ่อเพชรวัดท่าถนน วัดท่าถนนเดิมชื่อ วัดวังเตาหม้อ ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำน่าน ถนนเกษมราษฎร์ ตำบลท่าอิฐ เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อเพชร เป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์สมัยเชียงแสน นั่งขัดสมาธิเพชร ตามประวัติกล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2436 ขณะหลวงพ่อด้วงเจ้าอาวาสวัดหมอนไม้ เดินทางกลับจากรับนิมนต์ที่วัดสว่างอารมณ์ ตำบลไผ่ล้อม อำเภอลับแล เมื่อผ่านวัดสะแกที่เป็นวัดร้าง ได้พบเนินดินเป็นจอมปลวกขนาดใหญ่มีเกศพระพุทธรูปโผล่ขึ้นมา เมื่อขุดดูพบว่าเป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ มีลักษณะงดงามมาก จึงนำมาประดิษฐานไว้ที่วัดท่าถนน มีคนมากราบไหว้บูชาเป็นจำนวนมาก ประกอบกับเป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิเพชร จึงเรียกกันว่า หลวงพ่อเพชร วัดธรรมาธิปไตย ตั้งอยู่ในตัวเมืองใกล้สี่แยกจุดตัดของถนนอินใจมีกับถนนสำราญรื่น เดิมชื่อวัดต้นมะขาม ภายในวัดเป็นที่เก็บบานประตูของวิหารหลังใหญ่ และเก่าแก่มากของวัดพระฝาง บานประตูทำจากไม้ปรูขนาดกว้าง 2.2 เมตร สูง 5.3 เมตร และหนา 16 เซนติเมตร แกะสลักในสมัยอยุธยาเป็นลายกนกก้านขด มีลายพุ่มทรงข้าวบิณฑ์ 7 พุ่ม ระหว่างพุ่มมีกนกใบเทศขนาบสองด้าน กล่าวกันว่า เป็นบานประตูไม้แกะสลักที่มีความงามเป็นที่สองรองลงมาจากประตูวิหารวัดสุทัศน์ที่กรุงเทพฯ วัดใหญ่ท่าเสา ตั้งอยู่ที่ถนนสำราญรื่น ตำบลท่าเสา อยู่ใกล้กับสถานีรถไฟท่าเสา วัดนี้มีวิหารเก่าแก่ซึ่งมีบานประตูไม้แกะสลัก 2 บาน ตลอดจนลายไม้ที่วิหารด้านหน้า และมีหอไตรโบราณที่มีรูปแบบสีสันสวยงาม ซึ่งใช้เป็นที่เก็บพระไตรปิฎก อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ประดิษฐานอยู่หน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติประวัติในความกล้าหาญ รักชาติและเสียสละ เมื่อครั้งพระยาพิชัยครองเมืองพิชัยในสมัยธนบุรี ท่านได้สร้างเกียรติประวัติไว้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2316 พม่ายกทัพมาตีเมืองพิชัย พระยาพิชัยได้ยกทัพไปสกัดทัพพม่าจนแตกพ่ายกลับไป การรบในครั้งนั้นดาบคู่มือของพระยาพิชัยข้างขวาได้หักไปหนึ่งเล่ม แต่ก็ยังรบได้ชัยชนะต่อทัพพม่า ด้วยวีรกรรมดังกล่าว จึงได้สมญานามว่า พระยาพิชัยดาบหัก อนุสาวรีย์แห่งนี้ออกแบบและหล่อโดยกรมศิลปากร ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 ภายในบริเวณมี พิพิธภัณฑ์ดาบเหล็กน้ำพี้ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นที่เก็บรักษาดาบเหล็กน้ำพี้ใหญ่ที่สุดในโลก มีน้ำหนัก 557.8 กิโลกรัม ฝักดาบทำด้วยไม้ประดู่ ฝังลวดลายมุกหุ้มปลอกเงินสลักสลาย และพิพิธภัณฑ์พระยาพิชัย ที่ภายในเก็บรวบรวมประวัติของพระยาพิชัยดาบหัก รวมทั้งแบบจำลอง สนามรบ และวิถีชีวิตในสมัยอยุธยาตอนปลาย เครื่องมือเครื่องใช้โบราณ หอวัฒนธรรมวิทยาลัยครูอุตรดิตถ์ ตั้งอยู่ที่วิทยาลัยครูอุตรดิตถ์ ถนนอินใจมี เป็นศูนย์รวมโบราณวัตถุที่สำคัญของชาวอุตรดิตถ์ เหมาะแก่การศึกษาค้นคว้าและเป็นหลักฐานอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ โบราณวัตถุที่สำคัญชิ้นหนึ่ง คือ ยานมาศ หรือ คานหามไม้แกะสลักโปร่ง 3 ชั้น กว้าง 73 เซนติเมตร ยาว 3.50 เมตร สูง 1.45 เมตร เป็นฝีมือช่างสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ยานมาศนี้ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ได้ทรงบันทึกไว้ในจดหมายเหตุเมื่อคราวเดินทางมาตรวจราชการ หัวเมืองฝ่ายเหนือ พ.ศ. 2444 ว่าทรงพบยานมาศแบบนี้ 4 คัน คันแรกทรงพบที่อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท อีก 2 คัน พบที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก ครั้นมาถึงอุตรดิตถ์ก็พบอีกคันที่วัดท่าเสา ซึ่งก็ได้นำมาจัดแสดงไว้ให้ประชาชนชมที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งนี้ หอวัฒนธรรมฯ จะเปิดให้ชมฟรีเฉพาะวันพฤหัสบดีและวันอาทิตย์เท่านั้น และช่วงเช้าตั้งแต่เวลาตีห้า จะมีชาวบ้านจากอำเภอต่าง ๆ นำของพื้นบ้านมาขาย สามารถชมวิถีชีวิตชาวบ้านได้ สำหรับผู้ที่ต้องการเข้าชมหอวัฒนธรรมฯ เป็นหมู่คณะต้องทำหนังสือติดต่อล่วงหน้ามาก่อน ถึงสถาบันราชภัฎอุตรดิตถ์ ถนนอินใจมี จังหวัดอุตรดิตถ์ วัดกลาง อยู่ที่ตำบลบ้านแกะ ห่างจากตัวอำเภอ 3 กิโลเมตร วัดกลางเป็นวัดโบราณตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่ปรากฎชื่อผู้สร้าง มีพระอุโบสถที่มีลวดลายรูปปั้นสวยงาม ภายในอุโบสถมีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองมีพุทธลักษณะงดงามเป็นศิลปแบบรัตนโกสินทร์ตอนต้นผสมศิลปะแบบลาวหลวงพระบาง และจิตรกรรมฝาผนังที่เก่าแก่หายากสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นภาพพระเวสสันดรชาดกและเทพชุมนุม วัดพระฝาง ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 บ้านพระฝาง ตำบลผาจุก ห่างจากตัวเมืองประมาณ 25 กิโลเมตร จากตัวเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 1045 ถึงทางหลวงหมายเลข 11 เลี้ยวขวาไปทางพิษณุโลก 2 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายจากทางแยกเข้าไป 14 กิโลเมตร วัดนี้มีชื่อเต็มว่า วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ เคยเป็นวัดที่จำพรรษาของ เจ้าพระฝาง เมืองสวางคบุรี ซึ่งอยู่ในสมณเพศแต่นุ่งห่มผ้าแดงและมิได้สึกเป็นฆราวาส ท่านได้ซ่องสุมผู้คนสมัยกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ 2 เพื่อจะกู้เอกราช วัดพระฝางประกอบด้วยโบสถ์ วิหารและพระธาตุเจดีย์เป็นสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย สำหรับบานประตูแกะสลักของพระวิหารเก็บรักษาไว้ที่วัดธรรมาธิปไตย กลุ่มหัตถกรรมผลิตภัณฑ์ผักตบชวา อยู่ที่บ้านท่า หมู่ 5 ตำบลหาดกรวด ห่างจากตัวเมือง 12 กิโลเมตร ไปตามเส้นทางวังกะพี้ (ทางหลวงหมายเลข 1040) ขับตรงไปข้ามสะพานจนเจอสามแยกให้เลี้ยวขวาไปทางอำเภอตรอน ประมาณ 1 กิโลเมตร จะเจอป้ายหมู่บ้านอุตสาหกรรมอยู่ทางขวามือเลี้ยวเข้าไปประมาณ 300 เมตร กลุ่มหัตถกรรมผลิตภัณฑ์ผักตบชวา เป็นกลุ่มแม่บ้านที่ร่วมกันทำผลิตภัณฑ์จากผักตบชวา โดยได้รับการส่งเสริมจากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดพิษณุโลก ร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ ผลิตภัณฑ์จากผักตบชวาจากกลุ่มแม่บ้านบ้านท่ามีฝีมือการผลิตที่ปราณีตและรูปแบบที่ทันสมัย และที่สำคัญมีราคาย่อมเยามาก เหมาะที่จะซื้อมาเป็นของตกแต่งบ้านหรือของฝาก เช่น โคมไฟ แจกัน กระเป๋า ตะกร้า รองเท้า ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อคุณอุ่นเรือน โหมดพันธ์ ประธานกลุ่ม โทร. (055) 445354
Hotline 0-936468915, 0-823656241 ใบอนุญาตเลขที่ 11/05028