วัดบุปผาราม หรือเรียกอีกชื่อว่า วัดปลายคลอง ตั้งอยู่หมู่ที่ ๓ บ้านปลายคลอง ถนนพัฒนาการปลายคลอง ตำบล วังกระแจะ เป็นวัดเก่าแก่ที่สุดในจังหวัด สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา ราวรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. ๒๑๙๑) ท่านพระครูคุณสารพิสุทธิ์ (หลวงพ่อโห) อดีตเจ้าอาวาสในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้บูรณะปฏิสังขรณ์เสนาสนะถาวรวัตถุในวัด จวบจนปัจจุบันท่านพระครูสุวรรณสารวิบูลพร้อมทั้งชาวบ้านได้ร่วมแรงร่วมใจกันจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ และดูแลภูมิทัศน์โดยรอบวัดให้สะอาดเรียบร้อย วัดนี้จึงเป็นศูนย์กลางการปฏิบัติศาสนกิจ สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ เป็นแหล่งรวบรวมโบราณวัตถุอันทรงคุณค่าไว้มากมายโดยเฉพาะพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งเป็นมงคลสูงสุดคู่บ้านเมือง มีพระพุทธรูปทองบุเงิน พระพุทธรูปปางต่าง ๆ รวมทั้งเครื่องถ้วยจีน เครื่องถ้วยยุโรป กลองมโหรทึก แสดงให้เห็นถึงการเดินทางแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างเมืองท่าชายฝั่งตะวันออก กับเมืองท่าโพ้นทะเลในแถบเอเชียอาคเนย์ข้ามไปไกลถึงซีกโลกตะวันตก พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐-๑๗.๐๐ น. ภาพจิตรกรรม ฝาผนังในโบสถ์ และวิหารพระพุทธไสยาสน์เขียนขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์เป็นฝีมือช่างท้องถิ่นแต่ล้วนแล้วผสมกลมกลืนด้วยศิลปจีน และวรรณคดีจีน แสดงให้เห็นว่าวัดแห่งนี้อาจได้รับการอุปถัมภ์จากชาวจีนที่มาค้าขายแถบชายฝั่งทะเลตะวันออก (พ่อค้าชาวจีนอพยพทางเรือมาที่เมืองตราดตั้งแต่สมัยอยุธยา บ้างอพยพจากอยุธยา กรุงเทพฯ เวียดนาม บ้างก็มาจากมาเลเซีย สิงคโปร์) นอกจากนั้นยังมีสิ่งที่น่าชมภายในวัด คือ หมู่กุฏิเล็กทรงไทย ที่สร้างได้ถูกต้องตามพระวินัยบัญญัติมีขนาดพอแค่ภิกษุอยู่ได้รูปเดียวเท่านั้น คนในท้องถิ่นเมื่อให้ลูกหลานบวชเรียนที่วัดก็จะสร้างกุฏิให้พร้อม เสร็จแล้วช่วยกันหามแห่มาที่วัดในวันทำพิธีบวช หอสวดมนต์ เป็นศาลาไม้ยกพื้นสูง หลังคามุงกระเบื้องเคลือบชั้นเดียว ชายคาปีกนก หน้าบันไม้จำหลักปิดทองลายเทพนม ฝาประกน เสาไม้แปดเหลี่ยม เจดีย์ เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ก่อด้วยศิลาแลงฉาบปูน รูปสี่เหลี่ยมจตุรัส วิหารฝากระดาน ก่ออิฐ ถือปูน รูปเรือสำเภา เช่นเดียวกับฐานโบสถ์วิหาร สร้างสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย หลังคาชั้นเดียว ฝาผนังไม้ เป็นต้น สอบถาม ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. ๐ ๓๙๕๑ ๒๖๓๖ การเดินทาง จากตัวเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข ๓ (ถนนสุขุมวิท) ตรงข้ามโรงพยาบาลตราด เลี้ยวแยกซ้ายเข้าไปประมาณ ๒ กิโลเมตร วัดโยธานิมิตร หรือเรียกอีกชื่อว่า วัดโบสถ์ ตั้งอยู่ที่ถนนเทศบาล ๔ ตรงสามแยกใกล้กับศาลหลักเมือง เป็นวัดหลวงเพียงแห่งเดียวในจังหวัดตราด สร้างขึ้นเมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมารวบรวมไพร่พลที่เมืองตราด หากเสร็จสมบูรณ์ในสมัย รัชกาลที่ ๓ วัดแห่งนี้เป็นสถานที่ที่ทำพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของบรรดาข้าราชการตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงได้เปลี่ยนมาทำพิธีที่วัดไผ่ล้อม ในส่วนของพระอุโบสถเป็นศิลปะแบบอยุธยา มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องพระเวสสันดรชาดก ปัจจุบันกลายเป็นพระวิหาร เรียกว่า วิหารโยธานิมิตร และเป็นที่เก็บโบราณวัตถุ อาทิ หนังสือใบลาน คัมภีร์เทศน์ และรอยพระพุทธบาท พระวิหารนี้ได้รับการบูรณะครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘ โดยซ่อมแซมหลังคา เสา ประตู หน้าต่าง ฝาผนังภายนอกที่ชำรุด แต่ยังคงรักษารูปทรงเดิมไว้ ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ตั้งอยู่บนถนนหลักเมือง ใกล้วัดโยธานิมิตร ศาลนี้มีลักษณะแปลกจากศาลหลักเมืองอื่น ๆ คือ ตัวอาคารก่อสร้างในลักษณะเป็นเก๋งจีน เมื่อครั้งมารวบรวมรี้พลกอบกู้เอกราชที่ตราด สมเด็จพระเจ้าตากสินโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นตามความเชื่อแบบจีนเพื่อให้ปกป้องคุ้มครองเมืองตราดให้รอดพ้นจากอันตราย ชาวเมืองอยู่เย็นเป็นสุข ศาลหลักเมืองเป็นดั่งศูนย์กลางเชื่อมความสัมพันธ์ไทย-จีน ในวันขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๖ ของทุกปี มีงานฉลองที่เรียกว่า วันงานพลีเมือง หรือที่ชาวจีนเรียกว่า วันเซี่ยกงแซยิด หมายถึง วันเกิดเจ้าพ่อหลักเมืองมีพิธีทำบุญตักบาตรแบบไทย และมีงานประจำปีศาลปุงเถ้าม้าแบบจีน ช่วงก่อน และหลังตรุษจีน ๑ เดือน มีเรื่องเล่ากันว่าเมื่อฝรั่งเศสยึดเมืองตราดนั้นสังเกตเห็นชาวเมืองตราดพากันไปไหว้เจ้าพ่อหลักเมืองอยู่เป็นประจำ จึงจะถอนเสาหลักเมืองทิ้งโดยให้คนไปขุดแต่ถอนเสาหลักเมืองไม่ขึ้น ครั้นเอาช้างมาดึงเสาหลักเมืองก็ไม่ล้มเพียงแต่เอนไปเล็กน้อย ซึ่งต่อมาชาวเมืองตราดได้บูรณะให้คงสภาพดี วัดไผ่ล้อม ตั้งอยู่ที่ถนนหลักเมือง เป็นวัดที่มีบทบาทสำคัญที่สุดต่อการศึกษาของจังหวัดตราด โดยวัดแห่งนี้เคยเป็นที่พำนักของบิดาแห่งการศึกษาจังหวัดตราด คือท่านเจ้าคุณพระวิมลเมธาจารย์ วรญาณนุรักษ์ สังฆปราโมก ภายในบริเวณวัดยังมีสวนพุทธธรรมสำหรับให้ประชาชนได้ใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรม และมีเจดีย์พิพิธภัณฑ์สามท่านเจ้าคุณ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของคนในจังหวัดตราด นอกจากนี้ยังเป็นที่พึ่งของชาวบ้านมาทุกยุคสมัยที่มีการพัฒนาอย่างสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม สำหรับสภาพแวดล้อมภายในคือ วัตรปฏิบัติที่เคร่งครัดของภิกษุ สามเณรควรแก่การเคารพศรัทธา นอกจากนั้นยังยึดมั่นแนวทางแห่งความกตัญญู ซึ่งเป็นรากฐานที่มั่นคงในการดำรงชีวิตของพุทธศาสนิกชน โบราณสถานจวนเรสิดังกัมปอร์ต ตั้งอยู่ที่ถนนหลักเมือง เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ ๓ ชั้น หลังคาทรงปั้นหยาลดชั้น เคยใช้เป็นที่พำนักของข้าหลวงฝรั่งเศส ผู้ได้รับการมอบหมายจากรัฐบาลฝรั่งเศสให้ปกครองจังหวัดตราด ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๕๓-๒๔๖๔ ได้กลายเป็นจวนผู้ว่าราชการจังหวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๐-๒๔๗๑ ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้ได้เป็นสำนักงานคุมประพฤติ กรมราชทัณฑ์ แต่ยังคงรูปแบบและปฏิมากรรมเดิมไว้ นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมได้ในวันและเวลาราชการ แหลมศอก จากถนนสายตราด-แหลมงอบ ไปประมาณ ๓ กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายไปบริเวณแหลมศอก ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข ๓๑๕๕ ระยะทาง ๒๔ กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของศาลกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ พระราชบิดาแห่งราชนาวีไทย และเป็นที่เคารพสักการะของชาวจังหวัดตราด ที่บริเวณแหลมศอกมีหาดทรายแดงอยู่ในบริเวณใกล้เคียง จุดเด่นของแหลมศอกคือ ช่วงที่พระอาทิตย์ตกสวยงามมาก และมีหมู่บ้านชาวประมงที่น่าไปเยือน คือ หมู่บ้านแหลมหิน และหมู่บ้านอ่าวช่อ วัดคีรีวิหาร เดิมชื่อว่า วัดท่าเลื่อน หรือวัดภูเขายวน ตั้งอยู่ที่บ้านท่าเลื่อน เป็นวัดเก่าแก่มีอายุมากกว่า ๑๑๐ ปี แต่ได้รับการบูรณะจนดูใหม่ทั้งวัด ที่ตั้งอยู่บนภูเขาทำให้มองเห็นวิวทิวทัศน์ด้านล่างที่เป็นป่า เขา และทะเล มีบรรยากาศร่มรื่นเงียบสงบ เป็นสวนป่าขนาดย่อม ๆ มีต้นสักปลูกอย่างเป็นระเบียบ ลักษณะเด่นของวัด คือ การก่อสร้างด้านสถาปัตยกรรมที่มีความงดงาม และมีการผสมผสานศิลปกรรมสมัยใหม่เข้าไว้ด้วย ศาสนสถานที่สำคัญภายในบริเวณวัดประกอบด้วย อุโบสถหลังใหญ่ พระเจดีย์ เรือนรับรองสมเด็จพระเทพฯ กุฏิธรรมสารอุทิศ และกุฏินิรมิตสามัคคี ศาลาการเปรียญ วิหารจีนที่ประดิษฐานพระพุทธอุดมสมบูรณ์ พระอวโลกิเตศวร และพระสังกัจจายน์ การเดินทาง จากตัวเมืองไปตามทางหลวง ๓๑๘ สายตราด-คลองใหญ่-บ้านหาดเล็ก ไปประมาณ ๒๐ กิโลเมตร หาดลานทราย เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติมีบรรยากาศที่เงียบสงบนักท่องเที่ยวนิยมมาพักผ่อนกัน การเดินทาง แยกขวาตามเส้นทางไปคลองใหญ่ ทางหลวงหมายเลข ๓๑๘ ถนนตราด-คลองใหญ่ ตำบลแหลมกลัด เข้าไปประมาณ ๑๑ กิโลเมตร และเลี้ยวเข้าทางหลวง ๓๒๙๒ บริเวณหาดมีที่พักไว้บริการนักท่องเที่ยวเพียงแห่งเดียว ได้แก่ หาดลานทราย รีสอร์ท แหลมกลัด เป็นชายหาดที่มีลักษณะเป็นแหลมยื่นลงไปในทะเล มีเม็ดทรายขาวละเอียด บริเวณหน้าหาดน้ำไม่ลึกมาก สามารถลงเล่นน้ำได้ บรรยากาศเงียบสงบ เหมาะแก่การพักผ่อน จากแหลมกลัดสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของแหลมศอก เกาะไม้ซี้ เกาะกระดาดและเกาะหมากได้ การเดินทาง ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข ๓๑๘ แล้วเลี้ยวขวาเข้าบ้านแหลมกลัด วัดสะพานหิน ตั้งอยู่หลักกิโลเมตรที่ ๓๑-๓๒ ถนนตราด-คลองใหญ่ ทางหลวงหมายเลข ๓๑๘ ตามเส้นทางไปคลองใหญ่ มีทางแยกทางซ้ายมือจากถนนเข้าสู่วัด วัดนี้ไม่ปรากฏว่าสร้างในสมัยใด สันนิษฐานว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ปี กลางสระน้ำมีโบสถ์เก่าแก่ อยู่ห่างจากวัดประมาณ ๑ กิโลเมตร มีแนวหินเชื่อมสองฝั่งคลองใช้เป็นเส้นทางคมนาคม
Hotline 0-936468915, 0-823656241 ใบอนุญาตเลขที่ 11/05028