ล่องเรือ ล่องแพ ตามลำน้ำ แม่น้ำสาละวิน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าแม่น้ำคง อยู่ในเขตตำบลสบเมย ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 62 กิโลเมตร ตามเส้นทางหมายเลข 1194 แม่น้ำสาละวินเป็นพื้นที่อยู่ในเขตของอุทยานแห่งชาติสาละวินและติดชายแดนพม่า เป็นแหล่งที่นักท่องเที่ยวนิยมไปล่องเรือ ซึ่งมีลักษณะเป็นหุบเขาสูงชัน บางช่วงมีหาดทรายขาวสะอาด นักท่องเที่ยวที่สนใจควรเดินทางไปที่ที่ทำการอุทยานฯก่อน เพื่อติดต่อสอบถามเรื่องความปลอดภัยในการท่องเที่ยวและแจ้งขอเข้าใช้พื้นที่ในเขตอุทยานฯจุดที่นักท่องเที่ยวล่องเรือ คือบ้านแม่สามแลบและบ้านท่าตาฝั่ง ซึ่งจะมีเรือให้เช่าต้องติดต่อล่วงหน้าที่อุทยานแห่งชาติสาละวิน บ้านแม่สามแลบ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสาละวิน ในอดีตบริเวณนี้เป็นจุดการค้าผ่านแดนที่คึกคักแต่ปัจจุบันซบเซาลงไปเนื่องจากปัญหาชายแดน สินค้าส่วนมากเป็นเครื่องอุปโภคบริโภคของไทยและสินค้าพื้นเมืองจากพม่าช่น ผลิตผลทางการเกษตร เฟอร์นิเจอร์ไม้สักประเภทโต๊ะ ตู้ เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นท่าเรือของชาวบ้าน นักท่องเที่ยวสามารถเหมาเรือล่องไปตามแม่น้ำสาละวินได้ จุดที่จะล่องเรือคือสบเมย เป็นบริเวณที่แม่น้ำเมยมาบรรจบกับแม่น้ำสาละวิน ซึ่งจะล่องตามลำน้ำลงไปทางใต้ใช้เวลาในการเดินทางไป-กลับประมาณ 1 ชั่วโมง ที่บ้านแม่สามแลบมีบ้านพักให้บริการติดต่อได้ที่ที่ทำการอุทยานฯ บ้านท่าตาฝั่ง ใช้เวลาประมาณ 30 นาที จากบ้านแม่สามแลบ ไปตามทิศเหนือจะผ่านบ้าน ซิมูท่า บ้านแม่ปอ ก่อนถึงบ้านท่าตาฝั่งจะเป็นหน่วยพิทักษ์อุทยานฯสาละวิน ที่บ้านท่าตาฝั่งมีบ้านพักให้บริการด้วย นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อได้ที่อุทยานฯ แม่น้ำเงา อยู่ที่บ้านแม่เงา ตำบลแม่สวด อำเภอสบเมย เป็นเส้นทางที่เหมาะสำหรับการนั่งเรือหางยาวเพื่อไปหมู่บ้านต่างๆได้ สภาพสองฝั่งยังคงเป็นธรรมชาติที่มีสภาพดี นั่งเรือหางยาวชมธรรมชาติ เริ่มจากท่าเรือที่อยู่ริมฝั่งน้ำเชิงสะพานข้ามแม่น้ำเงาถึงบ้านสบโขง ซึ่งจะไม่มีเวลาออกและกลับจากแต่ละหมู่บ้านที่แน่นอนเพราะส่วนใหญ่เป็นเรือที่ใช้ขนผลิตผลการเกษตรออกมาจำหน่าย และระยะทางในการเดินทางไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำในแม่น้ำ ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการนั่งเรือหางยาวคือเดือนมิถุนายน-มกราคม แม่น้ำปาย เป็นแม่น้ำที่ใหญ่และยาวที่สุดของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เกิดจากทิวเขาถนนธงชัยและทิวเขาแดนลาวในเขตอำเภอปาย แล้วไหลลงมาทางทิศใต้ผ่านอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ไปบรรจบกับแม่น้ำสาละวิน (แม่น้ำคง) ในเขตรัฐคะยา สหภาพพม่า มีความยาวประมาณ 180 กิโลเมตร กว้างประมาณ 30 เมตร และลึกประมาณ 7 เมตร ท้องน้ำมีลักษณะเป็นกรวดทราย และในฤดูแล้งน้ำลึกประมาณ 1 เมตร ตลอดลำน้ำปายนี้สามารถล่องแพได้ นักท่องเที่ยวที่สนใจล่องแพสามารถติดต่อกับบริษัทนำเที่ยวที่อำเภอปายได้
เทศกาลงานประเพณี งานเมืองสามหมอก จัดขึ้นทุกปีระหว่างวันที่ 1-7 กุมภาพันธ์ มีการออกร้านจากหน่วยงานราชการ เอกชนและองค์กรต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่ผลงานของแต่ละหน่วยงานรวมทั้งการแสดงมหรสพรื่นเริง เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นได้รับความเพลิดเพลินกับกิจกรรมต่างๆในงานหลังจากที่ได้ตรากตรำกับการทำงานมาตลอดปี นอกจากนี้ ในงานยังจัดให้มีการแสดงของชาวเขาเผ่าต่างๆ ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนเพื่อให้งานมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น งานประเพณีปอยส่างลอง หรืองานบวชลูกแก้ว ตามแบบฉบับของชาวไทยใหญ่ ซึ่งถือว่าการบรรพชาสามเณรได้กุศลแรงกว่าบวชพระ จึงมักจัดกันอย่างยิ่งใหญ่ ระหว่างเดือนมีนาคม- พฤษภาคม เด็กที่จะบรรพชาเรียกว่า ส่างลอง เมื่อกำหนดจัดงานก็จะโกนผมแต่ไม่โกนคิ้ว(พระภิกษุพม่าไม่โกนคิ้ว) แล้วแต่งกายอย่างสวยงามด้วยเครื่องประดับอันมีค่า เช่น สวมสายสร้อย กำไล แหวน และใช้ผ้าโพกศีรษะแบบพม่า สวมถุงเท้ายาว นุ่งโสร่ง ทาแป้งขาว เขียนคิ้วทาปาก ทั้งนี้เชื่อกันว่าพระพุทธเจ้ามีฐานะเป็นกษัตริย์ยังสละกิเลสได้ แล้วพาไปขี่ม้า ถ้าไม่มีม้าก็จะขี่คอคน ซึ่งเรียกว่า พี่เลี้ยง หรือ ตะแปส่างลอง แล้วแห่ไปตามถนนสายต่าง ๆ มีกลดทองหรือ ทึคำ แบบพม่ากั้นกันแดด ปัจจุบัน ประเพณีได้มีการกำหนดรูปแบบให้เป็นการบรรพชาสามเณรแบบสามัคคี คือ จัดให้มีการบรรพชาส่างลองเป็นจำนวนมากในคราวเดียวกันทุกปีในช่วงต้นๆเดือนเมษายนของทุกปี ทำให้ประเพณีปอยส่างลองจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีความยิ่งใหญ่และงดงามเป็นที่น่าสนใจของนักท่องเที่ยว งานประเพณีจองพารา (งานปอยเหลินสิบเอ็ด) คือประเพณีส่วนหนึ่งในงานเทศกาลออกพรรษา คำว่า จองพารา เป็นภาษาไทยใหญ่แปลว่า ปราสาทพระ การบูชาจองพารา คือการสร้างปราสาทเพื่อคอยรับเสด็จพระพุทธเจ้าที่จะเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เทศกาลนี้จัดขึ้นระหว่างวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันแรม 8 ค่ำ เดือน 11 หรือในราวเดือนตุลาคม กิจกรรมภายในงานชาวบ้านจะช่วยกันสร้างปราสาทจำลองที่เรียกว่า จองพารา ประดับไว้ตามบริเวณวัดและบ้านเรือนและแห่ขบวนรูปสัตว์ต่างๆเพื่อแสดงความยินดีที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับมา ในวันขึ้น 13 ค่ำ จะมีตลาดนัดออกพรรษาหรือกาดหลู่ โดยมีการจุดตะเกียงและเทียนในตลาดตั้งแต่กลางคืนจนถึงรุ่งเช้า เพื่อให้ชาวบ้านได้จับจ่ายซื้อของเตรียมงานไฟ สำหรับวันขึ้น 14 ค่ำเป็นวันดา หรือวันจัดเตรียมของที่ใช้ทำบุญออกพรรษา โดยเฉพาะการเตรียมจองพารา เช่น กระดาษเงิน กระดาษทอง และในวันขึ้น 15 ค่ำ อันเป็นวันออกพรรษานั้น ตั้งแต่เช้าตรู่ประชาชนพร้อมใจกันไปทำบุญตามวัด บางวัดจัดให้มีการตักบาตรเทโว ส่วนในตอนเย็นจะนำดอกไม้ธูปเทียนและขนมข้าวต้มไปขอขมาบิดามารดาและญาติผู้ใหญ่ ประเพณีลอยกระทง หรืองานเหลินสิบสอง จัดขึ้นในวันเพ็ญเดือนสิบสอง โดยชาวบ้านจะจัดทำกระทงเล็กๆ ไปลอยตามแม่น้ำ มีการประกวดกระทงใหญ่ที่หนองจองคำ ซึ่งเป็นหนองน้ำสาธารณะกลางเมือง มีการแสดงมหรสพรื่นเริง ตามบ้านเรือนจะมีการจุดประทีปโคมไฟสว่างไสว นอกจากนี้ยังมีการลอยกระทงสวรรค์ โดยนำกระทงที่จุดประทีปโคมไฟแล้วผูกติดกับลูกโป่งลอยขึ้นไปในอากาศ พิธีนี้จัดขึ้นที่วัดพระธาตุดอยกองมู นอกจากนี้ ยังมีศิลปะที่น่าสนใจของชาวไตคือศิลปะการแสดงและดนตรีซึ่งแตกต่างจากของล้านนา และมักจะนำเข้ามาร่วมในงานบุญงานแห่ต่างๆ อยู่เสมอ อาทิ ฟ้อนกิงกะหล่า หรือฟ้อนกินรี ซึ่งได้รับความนิยมที่สุด ผู้แสดงจะใส่ปีกใส่หางบินร่ายรำ นอกจากนี้ยังมีการฟ้อนตัวสัตว์ต่างๆ ที่มีความเชื่อว่าอาศัยอยู่ที่ป่าหิมพานต์ เช่น ฟ้อนนก ฟ้อนผีเสื้อ ฟ้อนม้า เป็นต้น ฟ้อนโต เป็นการแสดงที่นิยมกันอีกชุดหนึ่ง ตัวโตนั้นเชื่อกันว่าเป็นสัตว์ป่าในหิมพานต์ชนิดหนึ่ง มีเขาคล้ายกวางและมีขนยาวคล้ายจามรี มีลักษณะร่ายรำคล้ายการเชิดสิงโตของจีนนอกจากนี้ ยังมีการแสดงอื่นๆ อีกหลายชุด ได้แก่ ฟ้อนดาบ หรือที่เรียกว่า ฟ้อนก้าแลว ฟ้อนไต เป็นการฟ้อนต้อนรับผู้มาเยือน รำหม่อง ส่วยยี เป็นการรำออกท่าทางคล้ายพม่า และ มองเซิง เป็นการรำประกอบเสียงกลองมองเซิง งานเทศกาลชิมชาบ้านไท จัดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ บริเวณหมู่บ้านรักไท หมู่ 6 ตำบลหมอกจำแป๋ อำเภอเมือง หมู่บ้านรักไทเป็นหมู่บ้านชายแดน อยู่ในความควบคุมของกองทัพภาคที่ 3 ราษฏรมีอาชีพปลูกชาเป็นหลักมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเดินทางขึ้นไปเที่ยวเป็นจำนวนมาก การจัดงานเทศกาลชิมชานี้เพื่อเป็นการสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกชาและส่งเสริมการท่องเที่ยวของหมู่บ้าน ภายในงานมีการขี่ม้ารอบหมู่บ้าน เที่ยวชมธรรมชาติ ชิมชาชั้นดี ชมการแสดงจากชาวจีนยูนาน และการละเล่นพื้นบ้าน งานเทศกาลดอกบัวตอง จัดขึ้นประมาณเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ดอกบัวตอง เป็นดอกไม้ป่าสีเหลืองคล้ายดอกทานตะวันแต่ขนาดเล็กกว่ามักขึ้นอยู่ตามป่าเขาสูงทางตอนเหนือของประเทศไทย ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนจะมีมากที่บริเวณบ้านแม่เหาะ อำเภอแม่สะเรียงและดอยแม่อูคอ อำเภอขุนยวม เมื่อถึงระยะที่ดอกบัวตองบานตามริมเส้นทางตลอดจนภูเขาที่สลับซับซ้อนกันอยู่นั้นจะเป็นสีเหลืองสว่างไสวไปด้วยสีของดอกบัวตองดูงดงามมาก จังหวัดแม่ฮ่องสอนจึงได้จัดงานเทศกาลบัวตองบานขึ้นเพื่อเป็นการชมความงามของธรรมชาติ และชมวัฒนธรรมประเพณีของชาวไต และชาวไทยภูเขา โดยจะจัดที่บริเวณอำเภอขุนยวมในงานมีการละเล่นและมหรสพทั้งของพื้นเมืองและร่วมสมัยมีการประกวดธิดาบัวตอง การแสดงศิลปวัฒนธรรมชาวไทยภูเขา การแสดงสินค้าพื้นเมือง การแข่งขันกีฬาชาวดอย ฯลฯ ตลอดจนนิทรรศการต่างๆ และการนำเที่ยวชมดอกบัวตองบนดอยแม่อูคอ
Hotline 0-936468915, 0-823656241 ใบอนุญาตเลขที่ 11/05028