อำเภอปัว
ต้นดิ๊กเดียม ในวัดบ้านปรางค์
ตำบลปัว เป็นต้นไม้ที่มีลักษณะพิเศษคือใบไม้จะไหวสั่นทุกครั้งที่ถูกคนสัมผัส
ชื่อพื้นเมืองคือ ดิเดียม ดีบเดียม และดิกดอย ประโยชน์คือ
ใช้ทำยาสมุนไพร การเดินทาง จากจังหวัดน่านเดินทางด้วยตามหลวงหมายเลข
๑๐๘๐ และ ๑๒๕๖ สู่อำเภอปัว ก่อนถึงตัวอำเภอเล็กน้อยมีสามแยกตรงข้ามตลาดเทศบาล
๑ ให้เลี้ยวซ้ายไปประมาณ ๑ กิโลเมตร เข้าสู่วัดบ้านปรางค์
วัดพระธาตุเบ็งสกัด
ไปตามทางหลวงหมายเลข ๑๒๕๖ ทางเข้าตรงข้ามโรงเรียนวรนคร เข้าไปประมาณ
๒๐๐ เมตร และแยกซ้ายอีก ๒๐๐ เมตร ณ บ้านแก้ม หมู่ที่ 5 ตำบลวรนคร
ตั้งอยู่บริเวณที่สันนิษฐานว่าพระยาภูคาได้สร้างเมืองปัวโบราณหรือเมืองวรนครเพื่อให้
เจ้าขุนฟอง พระราชบุตรบุญธรรมมาปกครองซึ่งปัจจุบันเป็นที่ว่าการอำเภอปัว
คำว่าเบ็งสกัด หมายถึง สิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดจากบ่อดินที่ใช้ไม้แหย่ลงไปแล้วขาดเป็นท่อน
ๆ เหมือนมีอะไรมากัดให้ขาด และมีแสงเกิดขึ้นในคราวเฉลิมฉลอง
องค์พระธาตุและพระวิหารสร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๖ ภายในองค์พระเจดีย์ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุซึ่งถือเป็นศูนย์รวมศรัทธาของชุมชน
เป็นสถาปัตยกรรมของช่างน่าน วัดตั้งอยู่บนเนินสูงมองเห็นหมู่บ้านอยู่เบื้องล่าง
โดยรอบเป็นป่าละเมาะ ด้านหลังเป็นเนินเขา นับเป็นการเลือกสรรชัยภูมิที่ส่งให้วัดดูโดดเด่นเป็นสง่า
หากมาช่วงฤดูฝนจะมองเห็นนาข้าวเขียวขจีของหมู่บ้านเบื้องล่าง
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของวิหารเป็นทรงตะคุ่มแบบพื้นบ้านไทลื้อ
หรือที่เรียกว่า ทรงเตี้ยแจ้ วิหารเป็นหลังคา 2 ชั้น 2
ตับ มุงด้วยแป้นเกล็ด (ทำจากไม้สักทอง) เป็นศิลปะไทลื้อ
พื้นเมือง มีซุ้มประตูเป็นศิลปะล้านช้าง มีการบูรณะในสมัยพระยาอนันตยศ
และโปรดให้นำพระแก้วซึ่งมีเกศาเป็นทองคำบรรจุในองค์พระธาตุ
องค์พระประธานเป็นศิลปะแบบพื้นบ้านประดิษฐานบนฐานชุกชี และด้านหลังองค์พระประธานติดกระจกเงาตามความเชื่อของชาวไทลื้อ
และบานประตูไม้จำหลักเป็นศิลปะพื้นเมืองน่าน
วัดต้นแหลง
(วัดโบราณไทยล้านนา) ที่ตั้ง หมู่ 2 ตำบลไทยวัฒนา สันนิษฐานว่าสร้างประมาณ
พ.ศ. ๒๑๒๗ วิหารทรงตะคุ่มหลังคาลาดต่ำ ซ้อนกัน ๓ ชั้น ลักษณะเดียวกับบ้านเรือนแบบเดิมของชาวไทลื้อแถบสิบสองปันนา
ผนังเจาะช่องหน้าต่างเล็กๆ เพื่อป้องกันอากาศหนาวเย็น ประตูทางเข้าตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก
เพื่อให้แสงแรกของวันสาดส่องมาต้ององค์พระประธาน และเพื่อให้พุทธศาสนิกชนที่เข้ามาในวิหารมุ่งความสนใจไปที่องค์พระประธาน
ทั้งยังก่อให้เกิดบรรยากาศที่สงบนิ่งเหมาะกับการน้อมจิตสู่สมาธิ
การเดินทาง จากอำเภอเมือง
ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๐๘๐ เมื่อเริ่มเข้าเขตตัวเมืองปัวให้สังเกตธนาคารกสิกรไทย
สาขาอำเภอปัว แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าซอยก่อนถึงธนาคาร ขับตรงเข้าไปจนถึงวงเวียนให้เลี้ยวขวาอีกประมาณ
๒ กิโลเมตร
อุทยานแห่งชาติดอยภูคา
มีพื้นที่ทั้งหมด ๑,๐๖๕,๐๐๐ ไร่ หรือ ประมาณ ๑,๗๐๔ ตารางกิโลเมตร
ครอบคลุมพื้นที่ 8 อำเภอในจังหวัดน่าน คือ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ
อำเภอท่าวังผา อำเภอปัว อำเภอเชียงกลาง อำเภอทุ่งช้าง อำเภอบ่อเกลือ
อำเภอสันติสุข และอำเภอแม่จริม อุทยานแห่งชาติดอยภูคาเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์มีทั้งพืชพรรณและสัตว์ป่ามีความสำคัญต่อระบบนิเวศ
เทือกเขาดอยภูคาประกอบด้วยแนวภูเขาสูงสลับซับซ้อน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของปลายเทือกเขาหิมาลัย
โดยมียอดภูคาเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของจังหวัดน่าน สูงถึง
๑,๙๘๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล ดอยภูคาเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำหลายสาย
เช่น แม่น้ำน่าน ลำน้ำปัว และลำน้ำว้า บริเวณนี้เดิมเคยเป็นทะเลมาก่อน
ก่อนจะเกิดการเคลื่อนตัวของแผ่นดินสองผืนใต้ทะเลเข้าหากัน
ทำให้แผ่นดินโก่งตัวขึ้น น้ำทะเลใต้ดินระเหยไปเหลือเพียงสินแร่เกลือ
ดังที่พบในอำเภอบ่อเกลือ และการค้นพบสุสานหอยทะเลอายุประมาณ
๒๐๐ ล้านปี บนดอยภูแวที่บ้านค้างฮ่อ ตำบลสะกาด อำเภอปัว
มีลักษณะเป็นหอยแครงสองฝา ดร.จงพันธ์ จงลักษณ์มณี นักธรณีวิทยา
กรมทรัพยากรธรณี สรุปว่า เป็นซากหอยที่มี ชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า
พาลีโอคาร์ดิต้า สปีชี่ (Paleocardita Species) อายุ ๑๙๕-๒๐๕
ล้านปี จัดอยู่ในยุคไทรแอสซิก (Triassic) ตอนปลาย ป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยภูคา
ประกอบด้วยป่า 6 ประเภท ป่าดงดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ
ป่าเต็งรัง ป่าสนธรรมชาติ และทุ่งหญ้า เป็นแหล่งของพันธุ์ไม้หายากใกล้สูญพันธุ์และพรรณไม้เฉพาะถิ่น
ได้แก่ ต้นชมพูภูคา (Bretschneidera sinesis Hemsl.) ซึ่งเป็นพืชหายากในประเทศไทยจะพบเพียงแห่งเดียวที่ป่าอุทยานแห่งชาติดอยภูคา
เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่สูงถึง 25 เมตร ออกดอกเดือนมกราคม-ต้นมีนาคม
ในเขตป่าดิบเป็นแหล่งต้นเต่าร้างยักษ์ เป็นพรรณไม้เฉพาะถิ่นของอุทยานแห่งชาติดอยภูคา
เป็นปาล์มลำต้นเดียวปาล์มดึกดำบรรพ์ เมเปิ้ลใบห้าแฉก ต่างจากเมเปิ้ลที่อื่นซึ่งมีสามแฉก
และกระโถนพระฤาษี เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งนกเฉพาะถิ่นที่หายากสองชนิด
คือ นกมุ่นรกตาแดง นกพญาไฟใหญ่ และนกพงใหญ่พันธุ์อินเดียช่วงเวลาที่เหมาะสมในการท่องเที่ยว
คือ ฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ อุณหภูมิเฉลี่ย
๑๕-๒๗ องศาเซลเซียส
สถานที่น่าสนใจในอุทยานฯ
ชมพูภูคา ดอยภูคานับเป็นบ้านแห่งสุดท้ายของต้นชมพูภูคาพันธุ์ไม้หิมาลัย
ดร.ธวัชชัย สันติสุข ผู้เชี่ยวชาญพฤกษศาสตร์ป่าไม้ กรมป่าไม้
เป็นผู้สำรวจพบเป็นครั้งแรกในเขตอุทยานแห่งชาติดอยภูคา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์
พ.ศ. ๒๕๓๒ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ชมพูภูคาจะผลิดอกตามปลายกิ่งเป็นช่อสีชมพูยาว
๓๐-๓๕ เซนติเมตร เมื่อบานจะทำให้ช่อดอกเป็นพุ่มสวยงาม ชมพูภูคาเป็นพันธุ์ไม้ที่เคยมีการสำรวจพบตามหุบเขาแถบมณฑลยูนนานทางตอนใต้ของประเทศจีนและทางเหนือของเวียดนาม
จากนั้นก็ไม่มีรายงานการค้นพบพืชชนิดนี้อีก พื้นที่ป่าดิบเขาดอยภูคาจึงอาจเป็นแหล่งกำเนิดสุดท้ายของชมพูภูคา
ซึ่งเป็นไม้หายากใกล้สูญพันธุ์ชนิดหนึ่งของโลก จุดชมต้นชมพูภูคาที่เข้าถึงง่ายที่สุดอยู่ริมถนนห่างจากที่ทำการไป
๕ กิโลเมตร
เส้นทางศึกษาธรรมชาติชมพูภูคา
จัดไว้ ๒ เส้นทาง คือ เส้นทางศึกษาธรรมชาติดอกชมพูภูคามีทั้งเส้นรอบใหญ่
มีระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 3 ชั่วโมง
และเส้นทางรอบเล็ก มีระยะทาง ๒ กิโลเมตร ใช้เวลาเดิน ประมาณ
๑.๕ ชั่วโมง ซึ่งจะพบพันธุ์ไม้ที่หายากและพันธุ์เฉพาะถิ่นสมุนไพร
เป็นต้น และเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าดึกดำบรรพ์ (ดอยดงหญ้าหวาย)
มีระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 5 ชั่วโมง
ซึ่งเป็นแหล่งดูนก ที่มีนกไต่ไม้สีสวยที่พบเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยและนกชนิดอื่น
ๆ ด้วย
น้ำตกศิลาเพชร บ้านป่าตอง
ตำบลศิลาเพชร น้ำตกลงมาจากหน้าผาหลายชั้นลดหลั่นกันไป เหมาะกับการเล่นน้ำ
และมีผีเสื้อสีสวยให้ชมด้วย ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ ๗๑
กิโลเมตร ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๐๘๐ สายน่าน-ปัว ก่อนถึงอำเภอปัว
ตรงหลักกิโลเมตรที่ ๔๑-๔๒ มีทางแยกขวามือเข้าทางหลวงหมายเลข
๑๑๗๐ ไปประมาณ ๑๐ กิโลเมตร เดินไปอีกประมาณ 10 เมตร
ถ้ำผาแดง อยู่ที่บ้านมณีพฤกษ์
หมู่ที่ ๑๑ ตำบลงอบ เป็นถ้ำที่มีความสวยงามและยาวมากที่สุดในอุทยานแห่งชาติดอยภูคา
ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยสวยงาม ยังมีน้ำตกและลำธารขนาดใหญ่ภายในถ้ำอีกด้วย
ในอดีตถ้ำผาแดงเป็นฐานที่ตั้งหลบภัยของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
ภายในถ้ำยังปรากฏร่องรอยของที่พัก เตียงนอนของทหาร เตียงนอนคนไข้
บางเตียงยังอยู่ในสภาพที่ใช้ได้ หลุมที่ฝังซ่อนอาวุธ เศษถาดอาหาร
(ถาดหลุม) และเครื่องใช้ การเดินทาง ต้องเดินเท้าประมาณ
๓ ชั่วโมง ลัดเลาะเนินเขา ซึ่งจะได้ชมความสวยงามของธรรมชาติ
พันธุ์ไม้ และสัตว์ป่าต่าง ๆ บ้านของชาวเผ่าม้งที่อาศัยอยู่อย่างธรรมชาติกลางหุบเขา
ถ้ำผาฆ้อง ต้องเดินเท้าผ่านป่าร่มรื่นเข้าไปประมาณ
๓.๕ กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาดกลางบริเวณปากถ้ำจะมีขนาดเล็ก
ในถ้ำมีคูหาซึ่งมีหินงอกหินย้อย มีทางน้ำไหลผ่าน พื้นถ้ำเป็นดินเหนียวลื่นมาก
ไม่ควรเข้าชมในช่วงฤดูฝนเพราะอาจมีน้ำท่วมในถ้ำ ควรติดต่อเจ้าหน้าที่นำทาง
การเดินทางห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 7 กิโลเมตร และต้องเดินเท้าเข้าไปอีกประมาณ
2 กิโลเมตร
น้ำตกต้นตอง เป็นน้ำตกหินปูนที่ห่างจากอุทยานฯ
ประมาณ 3 กิโลเมตร ถึงแยกบ้านเต๋ย ขับรถเข้าอีกประมาณ 800
เมตร เดินต่ออีกประมาณ 200 เมตร ซึ่งเป็นทางเดินลาดชัน น้ำตกต้นตองเป็นน้ำตกหินปูน
ขนาดกลางมี ๓ ชั้น สูงประมาณ 60 เมตร บนโตรกผามีพืชชุ่มน้ำ
เช่น ตะไคร่น้ำ เฟิร์นเกาะเขียวขจี ในหน้าน้ำน้ำตกจะสีขุ่นแดง
ยอดดอยภูแว เป็นยอดดอยที่มีความสูงชัน
สูงจากระดับน้ำทะเล 1,837 เมตร เป็นเทือกเขาเดียวกับภูเขาอัลไต
มีลักษณะโดดเด่น คือปราศจากต้นไม้ใหญ่ เป็นทุ่งหญ้าบนดอย
อีกทั้งยังมีลานหินและหน้าผาสูงชัน เช่น ผาแอ่น ผาผึ้ง ดอยภูแว
ค้นพบสุสานหอยซึ่งเป็นหอยทะเลอายุประมาณ ๒๑๘ ล้านปี ที่บริเวณบ้านค้างฮ่อ
อำเภอทุ่งช้าง การเดินทางโดยรถยนต์จากที่ทำการอุทยานฯ ไปถึงหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติดอยภูคาที่
9 (บ้านด่าน) ระยะทางประมาณ ๖๓ กิโลเมตร และเดินทางเท้าขึ้นยอดดอยภูแวประมาณ
8 กิโลเมตร และมีลูกหาบไว้บริการ
น้ำตกภูฟ้า เป็นน้ำตกที่สูงที่สุดในอุทยานแห่งชาติดอยภูคา
สูงประมาณ ๑๔๐ เมตร มีทั้งหมด ๑๒ ชั้น ใช้เวลาไป-กลับ และชมน้ำตกประมาณ
๒ วัน ควรติดต่อเจ้าหน้าที่นำทาง
สิ่งอำนวยความสะดวก ในบริเวณอุทยานแห่งชาติดอยภูคา
มีบ้านพักและสถานที่กางเต็นท์ บริเวณที่ทำการอุทยานฯ และลานดูดาวซึ่งเป็นจุดชมทิวทัศน์ได้
อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ตามถนนสายปัว-บ่อเกลือ ระยะทางประมาณ
๕ กิโลเมตรในบริเวณพื้นที่กางเต็นท์ทั้ง ๒ แห่งนี้ มีห้องน้ำ
และห้องสุขาไว้บริการแก่นักท่องเที่ยว จองบ้านพักที่งานบ้านพักสำนักอุทยานแห่งชาติ
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรุงเทพฯ สามารถจองล่วงหน้าได้
๖๐ วัน ห้องพักราคา ๘๐๐ บาทต่อคืน โทร ๐ ๑๙๖๐ ๐๔๗๗, ๐ ๒๕๖๒
๐๗๖๐, ๐ ๕๔๖๒ ๖๗๗๐ และ www.dnp.go.th
การเดินทาง จากตัวเมืองน่าน
ไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข1080 (น่าน-ทุ่งช้าง) ระยะทาง
59 กิโลเมตร จากนั้นแยกไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1256
(ปัว-บ่อเกลือ) อีกประมาณ 25 กิโลเมตร
ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยภูคา
ผ้าทอไทลื้อ
แหล่งผลิตอยู่ที่บ้านดอนไชย หมู่ที่ 3 ตำบลศิลาแลง และที่บ้านเก็ต
หมู่ที่ 2 ตำบลวรนคร |