ราชวงศ์ : สุโขทัย ปีที่ครองราชย์ : พ.ศ.2154-2171 พระเจ้าทรงธรรม เป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 21 แห่งอาณาจักอยุธยา ทรงเป็นโอรสของพระเอกาทศรถแห่งราชวงศ์สุโขทัยที่ได้เข้ามาครองอำนาจในอยุธยาภายหลังการเสียกรุงศรอยุธยาครั้งแรก พระเจ้าทรงธรรมเป็นโอรสที่เกิดจากพระสนม มิใช่จากพระมเหสีซึ่งเป็นข้ออ้างในการครองราชย์ไม่แข็งแรงนัก แต่การสืบสันติวงศ์ในสมัยอยุธยาหาได้มีกฎเกณฑ์ไม่ ในบางครั้งขึ้นอยู่กับความสามารถที่จะควบคุมกำลังคน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มขุนนางข้าราชการหรือไพร่พล หรือจะใช้กำลังในการยึดอำนาจในลักษณะที่เรียกว่า ปราบดาภิเษก การที่พระเจ้าทรงธรรมได้ขึ้นมาครองราชย์ได้ ก็เพราะเจ้าฟ้าสุทัศน์พระโอรสอันเกิดจากพระมเหสีและได้รับสถาปนาเป็นพระมหาอุปราช ซึ่งมีสิทธิจะได้สืบราชสมบัติต่อนั้นถูกข้อหาขบถต่อพระราชบิดา (พระเอกาทศรถ) จึงต้องเสวยยาพิษและสิ้นพระชนม์ไปก่อน ตามหลักของพงสาวดารไทย กล่าวว่าก่อนที่พระเจ้าทรงธรรมจะขึ้นครองราชย์นั้น โอรสอีกองค์หนึ่งของพระเอกาทศรถได้ขึ้นมาเป็นพระเจ้าแผ่นดินในระยะเวลาสั้นๆเพียง 1 ปี กับอีก 2 เดือน เข้าใจว่าในระยะที่พระเอกาทศรถจะสิ้นพระชนม์นั้น พระโอรสองค์ที่ว่านี้เกิดจากพระมเหสีทรงพระนามว่า พระศรีเสาวภาคย์ เป็นเจ้าฟ้าที่มีพระเนตรข้างเดียว และก็มีสิทธิที่จะได้ครองบัลลังก์ต่อเมื่อเจ้าฟ้าสุทัศน์พระราชบุตรผู้พี่ที่สวรรคตไป แต่หลักฐานของชาวยุโรปของอยุธยาสมัยนั้น ยืนยันว่าพระเจ้าทรงธรรมขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเอกาทศรถ ดังนั้นอาจเป็นไปได้ที่ว่าในขณะที่พระเอกาทศรถจะสวรรคต พระเจ้าทรงธรรมทรงผนวชอยู่ที่วัดระฆัง ได้สมณฐานันดรเป็น พระพิมลธรรมอนันตปรีชา ทรงเชี่ยวชาญทางด้านพุทธศาสนา มีลูกศิษย์ลูกหาและขุนนางข้าราชการนิยมชื่นชอบไม่น้อย ทำให้สามารถซ่องสุมผู้คนเป็นกำลังเข้ายึดอำนาจได้ พระเจ้าทรงธรรมครองราชสมบัติอยู่ 18 ปี และถือเป็นสมัยที่ประสบความสำเร็จ พระองค์เป็นกษัตริย์อยุธยาที่ได้รับการยกย่องสรรเสริญมากพระองค์หนึ่ง ลักษณะเด่นของรัชสมัยพระองค์คือ ด้านพระพุทธศาสนา และวรรณกรรม การต่างประเทศ และความสงบภายใน ด้านพุทธศาสนาสมัยพระองค์มีการค้นพบ รอยพระพุทธบาท ที่ สระบุรี ตามประวัติกล่าวว่านายพรานชื่อบุญ เป็นผู้ค้นพบโดยบังเอิญบนภูเขาเล็กๆบริเวณนั้น พระองค์ได้ทรงสร้างมณฑปครอบพระพุทธบาทและทรงเริ่มประเพณีการเสด็จไปบูชาพระพุทธบาทตั้งแต่สมัยพระองค์ ประเพณีถือได้ว่าเป็นประเพณีของการจาริกแสวงบุญที่สำคัญที่สุดของกษัตริย์อยุธยาตราบจนกระทั่งเสียกรุงแก่พม่า และได้กลายเป็นประเพณีของชาวบ้านในแถบภาคกลางมาจนถึงทุกวันนี้ อาจกล่าวได้ว่าการได้ไปไหว้พระพุทธบาทเป็นประจำทุกปี ทำให้สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางพระพุทธศาสนามากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ประเพณีจะทำในเวลาหลังฤดูเกี่ยวข้าวแล้ว คือประมาณเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม นอกเหนือจากการสร้างประเพณีบูชารอยพระพุทธบาทแล้ว ยังมีการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดและพระพุทธรูปสำคัญอีกด้วยเช่นพระมงคลบพิตร มีการแต่ง มหาชาติคำหลวง ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติพระพุทธเจ้าในชาติสุดท้ายก่อนตรัสรู้ มหาชาติ หรือ พระเวชสันดร ถือเป็นวรรณกรรมทางศาสนาที่สำคัญมากที่สุดเรื่องหนึ่งของไทย ทางด้านการต่างประเทศมีการค้ากับฮอลันดาและญี่ปุ่น ฮอลันดาทำการค้ากับไทยประเภทผ้าฝ้ายแลกเปลี่ยนกับหนังสัตว์และพริกไทย ซึ่งฮอลันดานำไปขายต่อให้จีนกับญี่ปุ่น ทำให้ไทยมีฐานะเป็นแหล่งการค้าระหว่างตะวันออกกับตะวันตก ไทยพยายามที่จะสร้างสัมพันธไมตรีนี้กับฮอลันดาทั้งนี้เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตน ในส่วนที่เกี่ยวกับญี่ปุ่นสมัยพระเจ้าทรงธรรมมีความสัมพันธ์ทั้งในด้านราชการและการค้าดูเหมือนว่าการค้ากับสองประเทศนี้ญี่ปุ่นจะต้องการสินค้าวัตถุดิบ เช่น หนังสัตว์ ดีบุก ตะกั่ว ไม้ฝาง น้ำตาล น้ำมันมะพร้าว ฯลฯ เพื่อแลกเปลี่ยนสินค้ากับไทยที่ต้องการ เช่น เงินและทองแดง ในบางครั้งญี่ปุ่นก็ต้องการสินค้าตะวันตก (โดยผ่านอยุธยา) เช่น ปีนและวัตถุระเบิด สมัยพระเจ้าทรงธรรมมีคนญี่ปุ่นเข้ารับราชการมีตำแหน่งเป็น ออกญาเสนาภิมุข คือยามาดะ นางามาซะ เมื่อพระเจ้าทรงธรรมสวรรคต ก็ได้เข้ามายุ่งกับการเมืองภายในของการสืบราชสมบัติทำให้ถูกกำจัดด้วยการส่งไปเป็นเจ้าเมืองนครสรีธรรมราช และถูกลอบวางยาพิษเมื่อปี พ.ศ. 2173 บ้านเรือนชาวญี่ปุ่นถูกทำลายแม้จะฟื้นตัวใหม่แต่จากการที่ญี่ปุ่นปิดประเทศมีผลทำให้บทบาทของชาวญี่ปุ่นลดลง แม้ลูกหลานคนเหล่านี้จะยังอยู่ในอยุธยาก็ตาม สมัยพระเจ้าทรงธรรมเป็นสมัยที่บ้านเมืองมีสงครามพอสมควร อาณาจักรกัมพูชา ก็กู้ เอกราช ของตน ทางทวายและตะนาวศรีซึ่งเป็นหัวเมืองมอญก็หลุดจากการคุ้มครองของไทย และเชียงใหม่เองก็เป็น เอกราช นับว่ารัชสมัยของพระองค์ไม่ประสบความสำเร็จทางด้านการทหารและการแผ่ขยายอำนาจ แต่เป็นสมัยที่เจริญรุ่งเรืองด้านการศาสนาและการต่างประเทศ พระเจ้าทรงธรรมประชวรและสวรรคตเมื่อพระชนมายุได้ 38 พรรษาและปัญหาการสืบราชสมบัติต่อจากพระองค์ก็มีคล้ายกับตอนที่พระองค์ขึ้นครองราชย์เช่นกัน
Hotline 0-936468915, 0-823656241 ใบอนุญาตเลขที่ 11/05028