ราชวงศ์ : สุโขทัย ปีที่ครองราชย์ : พ.ศ.2146-2153 พระเอกาทศรถ เป็นกษัตริย์องค์ที่ 20 ของอาณาจักรอยุธยา พระองค์เป็นโอรสของพระมหาธรรมราชาและพระวิสุทธิกษัตรีและเป็นอนุชาของพระนเรศวร มีพระชนมายุอ่อนกว่าพระนเรศวร 5 ปี ในสมัยที่พระราชบิดาคือพระมหาธรรมราชาครองราชสมบัติ พระนเรศวรได้รับการสถาปนาเป็น วังหน้า ซึ่งคล้ายกับตำแหน่งที่จะได้รับการครองราชสมบัติ พระเอกาทศรถก็ได้รับการสถาปนาเป็น วังหลัง เมื่อพระนเรศวรได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระเอกาทศรถก็ได้ยกย่องในฐานะเท่าเทียบกับพระนเรศวร คือพระองค์อยู่ในฐานะของ พระเจ้าอยู่หัว อีกพระองค์หนึ่ง ทั้งนี้อาจจะเป็นได้ว่าพระเอกาทศรถทรงร่วมรบในการสงครามกับพระนเรศวรมาตลอด และอาจเป็นเพราะพระนเรศวรไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีพระมเหสีหรือพระโอรส พระเอกาทศรถจึงอยู่ในฐานะของอุปราชหรือผู้ที่จะได้รับสืบราชสมบัติอย่างชัดเจน พระเอกาทศรสขึ้นครองราชสมบัติเมื่อพระชนมายุได้ 45 พรรษา ในสมัยที่อาณาจักรอยุธยาเป็นปึกแผ่นมั่นคง เพราะพระนเรศวรได้ขยายอำนาจของอยุธยาออกไปกว้างขวางอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน อยุธยามีอำนาจเหนือเชียงใหม่และรุกเข้าไปในดินแดนรัฐฉานและทางพม่าตอนใต้ก็ได้เมืองทวาย มะริด ตะนาวศรี และทางด้านกัมพูชาก็ทำให้เขมรต้องยอมรับอำนาจของไทย แต่อย่างไรก็ตามบรรดาอาณาเขตเหล่านี้ก็เป็นอิสระเมื่อสิ้นพระนเรศวร คงยังเหลืออยู่ก็แค่ส่วนพม่าตอนล่าง เอกสารชาวต่างชาติกล่าวกันว่า ทั้งพระนเรศวรและพระเอกาทศรถทรงโปรด ชาวต่างชาติ ดังนั้นอยุธยาจึงต้อนรับชาวต่างชาติอื่นๆอีก เช่น โปรตุเกส และญี่ปุ่น น่าเชื่อชาวญี่ปุ่นได้มีบทบาทสำคัญแล้วตั้งแต่สมัยของพระนเรศวร ซึ่งมี ทหารอาสา ญี่ปุ่น 500 คนในสงครามครั้งนั้น ในสมัยพระเอกาทศรถก็มีชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาค้าขายและมารับจ้างเป็นทหาร พระเอกาทศรถเองทรงเป็นทูตกับตระกูลโตกุกาว่าด้วย สมัยนี้เป็นสมัยที่เรือญี่ปุ่นได้รับ ใบเบิกร่องตราแดง ทางราชการญี่ปุ่นเข้ามายังอยุธยา (ใบร่องตราแดง ซึ่งเป็นเสมือนใบอนุญาตกิจการสำคัญทางการค้าระหว่างไทย-ญี่ปุ่น เป็นเวลาถึง 32 ปี ก่อนญี่ปุ่นจะปิดประเทศ มีเรือญี่ปุ่นมาอยุธยา 56 ลำ มาซื้อสินค้าประเภท ฝาง หนังกวาง หนังปลาฉลาม ตะกั่ว ดีบุก เป็นต้น) สมัยของพระเอกาทศรถ เป็นสมัยของการสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจ พระเอกาทศรถไม่โปรดการสงคราม และมิได้ทำการขยายอำนาจทางทหารอย่างสมัยพระนเรศวร ดังนั้นสมัยนี้จึงเป็นสมัยของการค้าขายติดต่อกับต่างประเทศและเป็นสมัยที่มีมาตรการทางด้านภาษีอากรอย่างมาก พระเอกาทศรถขึ้นครองราชย์ในเวลาที่สั้นเพียง 5 ปี และเมื่อพระองค์สวรรคตก็มีปํญหาการสืบราชสมบัติแย่งชิงกันในหมู่พระโอรสพระองค์เอง อันเป็นปัญหาทางการเมืองภายในของอยุธยาที่มีมาตลอดเกือบจะทุกสมัย