พระนารายณ์ ราชวงศ์ : ปราสาททอง ปีที่ครองราชย์ : พ.ศ.2199-2231 พระนารายณ์ เป็นกษัตริย์องค์ที่ 28 แห่งอาณาจักรอยุธยา พระองค์ทรงได้รับยกย่องให้เป็นมหาราช ทั้งนี้เพราะถือว่ารัชสมัยของพระองค์เจริญรุ่งเรืองในทางวรรณคดีและการต่างประเทศ แต่สมัยของพระองค์เป็นสมัยที่ปัญหายุ่งยากทางการเมืองภายในอย่างสูง และเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองต่างประเทศในลักษณะที่ล่อแหลมจนเกือบทำให้สยามตกอยู่ใต้อิทธิพลของฝรั่งเศส สมัยของพระองค์เป็นสมัยที่มีข้อมูลทางประวัติศาสตร์มากที่สุดของอยุธยา ทั้งนี้เพราะได้หลักฐานจากชาวตะวันตกที่เข้ามาในราชสำนัก พระนารายณ์เป็นโอรสของพระเจ้าปราสาททองกษัตริย์องค์ที่ 25 และเมื่อพระราชบิดาสวรรคตพระเชษฐาของพระองค์คือ เจ้าฟ้าไชย ก็ขึ้นครองราชย์ได้เพียง 2 วัน พระนารายณ์ทรงร่วมสมคบกับ พระศรีสุธรรมราชา ซึ่งเป็นพระเจ้าอา ชิงราชสมบัติ โดยขอให้ชาวต่างชาติในอยุธยา เช่น ฮอลันดา ญี่ปุ่น เปอร์เซีย ช่วยให้พระศรีสุธรรมราชาขึ้นครองราชสมบัติแทน แต่พระศรีสุธรรมราชาก็อยู่ในสมบัติเพียง 10 สัปดาห์ พระนารายณ์ก็ชิงราชสมบัติอีกครั้ง สมัยของพระนารายณ์ทรงพยายามที่จะสถาปนาอำนาจอยุธยาเหนือล้านนา(เชียงใหม่) และพม่าตอนล่าง ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลที่ช่วงชิงกันระหว่างอยุธยากับพม่า ในสมัยพระองค์ อยุธยาครองครองเมืองต่างๆในพม่าตอนล่างไว้ได้ เช่น มะริดและตะนาวศรี และใช้หัวเมืองเหล่านี้เป็นเมืองท่าติดต่อค้าขายกับอินเดียตลอดจนกับชาวตะวันตกที่เริ่มเข้ามาจำนวนมากในแถบนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอังกฤษกับฝรั่งเศส ในบรรดาชาติตะวันตกที่มีความสำคัญในระยะนี้ก็คือ ฮอลันดา อังกฤษ ฝรั่งเศส โดยบทบาทของโปรตุเกสได้เริ่มลดลงแล้ว พ่อค้าเหล่านี้พยายามอย่างยิ่งที่จะเข้ามามีผลประโยชน์ในการค้าของเอเชียซึ่งแต่เดิมอยู่ในมือของชาวจีน ทำให้ชาวตะวันตกไม่ได้รับผลกำไรเท่าที่ต้องการ เป็นผลให้การค้าอยู่ในลักษณะที่ปิดๆ เปิดๆ ยู่ตลอดเวลา พระนารายณ์ทรงสร้างเมืองลพบุรีเป็นราชธานีแห่งที่สอง และทรงพำนักอยู่ที่เมืองนี้มากกว่าอยุธยา เหตุผลของปัญหาความยุ่งยากของการเมืองภายในพระราชสำนัก ก็อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พระองค์ต้องการที่จะมีราชธานีแห่งที่สอง จากสมัยอันยาวนานของพระองค์ 32 ปี นับว่าเป็นสมัยของการเจริญรุ่งเรืองทางด้านศิลปวิทยาการ มีการแต่งวรรณกรรมเก่าๆ เช่น จินดามณี ราโชวาทชาดก พระราชพงสาวดารฉบับหลวงประเสริฐ ซึ่งงานเหล่านี้เป็นพื้นฐานของประวัติศาสตร์และวรรณคดีของไทยในปัจจุบัน พระองค์เองก็ทรงสนพระทัยวิทยาการสมัยใหม่ของชาวตะวันตก เช่นเรื่องของดาราศาสตร์ ทรงใช้กล้องส่องดูสังเกตการณ์เรื่องของจันทรุปราคา สุริยุปราคา เรื่องที่เด่นที่สุดของสมัยพระนารายณ์ก็คือ การติดต่อสัมพันธ์กับราชสำนักฝรั่งเศสของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และเป็นเรื่องล่อแหลมต่อการสูญเสียเอกราช และเกี่ยวเนื่องกับชาวต่างชาติ (กรีก) ที่มีชื่อว่า คอนแสตนติน ฟอลคอน ด้วยความสามารถทางการค้าและภาษา ทำให้สามารถก้าวขึ้นเข้ามารับราชการกับกรมพระคลัง ทำให้เป็นที่โปรดปรานและทำงานใกล้ชิดกับพระนารายณ์จนเลื่อนเป็นเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ ได้รักษาการในตำแหน่งพระคลัง และในที่สุดก็ควบกรมมหาดไทยกลายเป็นเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ ฟอนคอนมีความสนใจในการค้าในเอเชีย และต้องการที่จะหาผลประโยชน์ของตนควบคู่ไปกับทำงานในราชสำนักไทยดังนั้นฟอนคอนจึงหันไปร่วมมือกับบาทหลวงชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาอยู่ในอยุธยา ในปี พ.ศ. 2223 พระนารายณ์ทรงส่งทูตไปฝรั่งเศสแต่ทูตชุดนี้เรือแตกสูญหายไปนอกฝั่งอัฟริกา ต่อมาฝรั่งเศสได้ส่งทูตชุดใหญ่และสำคัญนำโดย เชอวาลิเอ เดอ โชมองต์ เข้ามาในอยุธยาจุดประสงค์เพื่อให้พระนารายณ์เปลี่ยนศาสนา ให้ฝรั่งเศสมีสิทธิพิเศษในการสอนศาสนา มีสิทธิพิเศษนอกอาณาเขต ให้ผูกขาดการค้าดีบุกที่ภูเก็ต ให้ได้รับผลประโยชน์ทางการค้าเท่าเทียมกับฮอลันดา และให้ตั้งทหารของตนที่สงขลา ทูตชุดนี้ออกนอกประเทศพร้อมกับทูตชุดที่ 3 ของไทยที่นำโดย โกษาปาน ในขณะเดียวกันสยามก็เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เกิดขบถมักกะสัน ซึ่งเป็นพ่อค้ามุสลิมจากเกาะซูลาเวสี (อินโดนีเซีย) ที่ทรงอิทธิพลและมีผลประโยชน์ขัดกันกับฮอลันดา พวกมักกะสันต้องการสนับสนุนให้อนุชาของพระนารายณ์ขึ้นเป็นกษัตริย์แทน และต้องการเปลี่ยนให้นับถือศาสนาอิสลามแทนด้วยแต่ก็ถูกฟอนคอนปราบปรามอย่างราบคาบ ในขณะเดียวกันก็เกิดวิกฤตการณ์ที่เมืองมะริด ซึ่งเป็นเมืองท่าด้านตะวันตกของอยุธยา มีการสังหารชาวอังกฤษ 60 คนที่ขัดขวางกับผลประโยชน์ทางการค้าของพระนารายณ์และฟอนคอนเป็นเหตุให้อยุธยาอยู่ในสภาพสงครามกับบริษัทอินเดียตะวันตกของอังกฤษ เรืออังกฤษปิดล้อมมะริด และอังกฤษเรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงินจำวนมาก (65,000 ปอนด์) และเป็นผลให้พระนารายณ์ยกเมืองมะริดให้อังกฤษในที่สุด ในเดือนกันยายน พ.ศ.2230 ฝรั่งเศสได้ส่งชุดสำคัญอีกชุดหนึ่งมา ซึ่งนำโดย โคลด เซเบเรย์ และซิมอง เดอ ลา ลูแบร์ พร้อมด้วยเรือรบ 6 ลำ ทหาร 500 คน และบาทหลวงเยซูอิด จุดประสงค์คือเรื่องการเปลี่ยนศาสนาของพระนารายณ์ และการเจรจาเอาเมืองบางกอก (แทนเมืองสงขลา) นอกเหนือจากเมืองมะริด ฝรั่งเศสได้เมืองบางกอกไป แต่ยังไม่ได้เปลี่ยนศาสนาของพระนารายณ์ ผลของการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ล่อแหลมทำให้เกิดความรู้สึกต่อต้านชาติฝรั่งขึ้นในบรรดาขุนนางไทยและพระสงฆ์ ขุนนางไทยไม่พอใจฟอนคอนที่มีอิทธิพลมากมายในราชสำนักและมีอิทธิพลต่อพระนารายณ์เอง และชาวต่างชาติอื่นก็ไม่พอใจสิทธิพิเศษของฝรั่งเศสและฟอลคอน ส่วนในด้านพระสงฆ์เกิดการหวั่นวิตกว่า พระนารายณ์จะหันไปนับถือคริสต์ศาสนา ดังนั้นเมื่อพระนารายณ์ทรงประชวร พระเพทราชา เจ้ากรมช้าง ก็กลายเป็นศูนย์กลางความรู้สึกของคนในชาติ ในครั้งนั้นพระเพทราชาได้รับแต่งตั้งให้รักษาการแทน ส่วนพระนารายณ์ยังมิทันมอบพระราชสมบัติให้ผู้ใด ไม่ว่าจะเป็นพระอนุชาทั้งสอง คือเจ้าฟ้าอภัยทศและเจ้าฟ้าน้อย หรือโอรสบุญธรรมคือพระปีย์ (พระนารายณ์ไม่พระโอรส มีแต่พระธิดา) พระเทพราชาก็ยึดอำนาจจับฟอลคอนประหารชีวิต พระปีย์ ถูกลอบทำร้าย พระนารายณ์สวรรคต ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2231 พระเทพราชาก็ขึ้นครองราชสมบัติ และพระอนุชาของพระนารายณ์ก็ถูกสำเร็จโทษ เป็นอันสิ้นราชวงศ์ปราสาททอง และเริ่มต้นราชวงศ์บ้านพลูหลวง พระเทพราชาเจรจาให้ทหารฝรั่งเศสถอยออกไปจากเมืองหลวงเมื่อ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2231 นับเป็นการสิ้นสุดการติดต่อความสัมพันธ์ทางการต่างประเทศของอยุธยาในลักษณะล่อแหลม แต่กลับไปใช้การติดต่อการค้าในลักษณะปกติตามที่เคยเป็นมาแต่ครั้งโบราณกาล
Hotline 0-936468915, 0-823656241 ใบอนุญาตเลขที่ 11/05028