ราชวงศ์ : บ้านพลูหลวง ปีที่ครองราชย์ : พ.ศ.2246-2252 พระเจ้าเสือ ทรงเป็นกษัตริย์องค์ที่ 30 ของอาณาจักรอยุธยา พระองค์มีฐานะในชื่อเสียงดุร้าย และมักมากในกามคุณ แต่ก็เป็นกษัตริย์ที่ทรงมีความเป็นสามัญชนมากที่สุดของอยุธยา ทรงโปรดปรานการเสด็จออกประพาสโดยมิให้ราษฏรรู้ว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงโปรดปรานการประพาสตกปลา ชกมวย เป็นต้น พระเจ้าเสือประสูติที่จังหวัดพิจิตร (วัดโพธิประทับช้าง) กล่าวกันว่าพระองค์เป็นโอรสลับของพระนารายณ์อันเกิดจากสนมที่เป็นเจ้าหญิงจากเชียงใหม่ แต่เนื่องจากพระนารายณ์ทรงอับอายที่มีโอรสกับเจ้าหญิงที่เป็นลาว (ซึ่งแต่เดิมไทยอยุธยาถือว่าเชียงใหม่หรืออาราจักรล้านนาก็เป็นลาวเหมืองกับล้านช้าง-หลวงพระบาง-เวียงจันทร์ และดูถูกว่าต่ำต้อยกว่าไทยที่อยุธยาหรือรัตนโกสินทร์) ดังนั้นพระนารายณ์จึงยกพระเจ้าเสือ ซึ่งมีนามเดิมว่า เดื่อ ให้เป็นบุตรบุญธรรมของพระเพทราชาเจ้ากรมช้าง ในสมัยที่ทรงพระเยาว์ พระเจ้าเสือทรงมีพระนามปรากฏในความสามารถในการบังคับบัญชาช้าง ซึ่งถือว่าเป็นวิชาที่สำคัญต่อความเป็นทหารและความเป็นผู้นำ ดังนั้นจึงรับราชการเป็น หลวงสรศักดิ์ ในกรมช้าง ในช่วงปลายของสมัยพระนารายณ์ พระเจ้าเสือและพระบิดาคือพระเทพราชาได้กลายเป็นศูนย์กลางของการต่อต้านอิทธิพลของคริสต์ศาสนาและฝรั่งเศส พระเจ้าเสือทรงมีความสำคัญสำหรับผลักดันให้พระเพทราชายึดอำนาจ ตั้งตนเป็นกษัตริย์และสถาปนาราชวงศ์ใหม่ คือ ราชวงศ์บ้านพลูหลวง พระองค์กำจัดผู้มีสิทธิสืบราชสมบัติ 3 รายคือพระอนุชา 2 องค์ของพระเจ้าแผ่นดินสมัยนั้น คือพระเจ้าอภัยทศและเจ้าฟ้าน้อย รวมทั้งโอรสบุญธรรมคือ พระปีย์ พระเจ้าเสือยังได้รับการสนับสนุนนอกเหนือจากกรมช้างของพระบิดาแล้ว ก็ยังมีพระสงฆ์จำนวนหนึ่งที่ไม่พอใจบาทหลวงคริสต์ศาสนาเข้าร่วม รวมทั้งกองกำลังจากกองทหารมอญที่เข้ามารับราชการอยู่ในไทย เมื่อพระเพทราชาได้ราชสมบัติ พระเจ้าเสือก็ได้รับสถาปนาเป็นอุปราช หรือวังหน้า (กรมพระราชวังบวรสถานมงคล) มีฐานะคล้ายเป็นกษัตริย์องค์ที่ 2 ของอยุธยา แต่เมื่อพระเพทราชาประชวรจะสวรรคตก็เกิดปัญหาการสืบราชสมบัติขึ้นอีก พระเจ้าเสือประหารพระเจ้าขวัญซึ่งเป็นอนุชาต่างมารดาของพระองค์ แต่เป็นพระอนุชาที่พระเพทราชาโปรดจะให้สืบราชสมบัติแทน พระเพทราชาทรงไม่พอพระทัยจึงยกราชสมบัติให้พระนัดดา คือ เจ้าพระพิไชยสุรินทร์ แต่ว่าเมื่อพระเพทราชาสวรรคตเจ้าพระพิไชยสุรินทร์ไม่กล้ารับราชสมบัติ พระเจ้าเสือจึงขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แทน พระเจ้าเสืออยู่ในราชสมบัติค่อนข้างสั้น คือ 6 ปี และกลับเป็นรัชสมัยที่ค่อนข้างที่จะไม่มีปัญหาทั้งเรื่องภายในและภายนอกนัก ในสมัยพระองค์มีเรื่องราวที่เล่ากันต่อมาเกี่ยวกับการเสด็จประพาสทางเรือและลัทธิของความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และกฏเกณฑ์ของบ้านเมือง กล่าวกันว่าครั้งหนึ่งเสด็จจากอยุธยาตามลำน้ำเจ้าพระยาเข้าคลองโคกขาม จะไปเมืองสมุทรสาคร นายท้ายเรือพระที่นั่งชื่อ พันท้ายนรสิงห์ คัดท้ายเรือไม่ดี หัวเรือชนต้นไม้หักซึ่งตามกฎหมายในกฎมณเฑียรบาลแล้วจะต้องถูกประหารชีวิตด้วยการตัดคอพระเจ้าเสือทรงมีเมตตาต่อพันท้ายนรสิงห์ จะไม่เอาโทษแต่พันท้ายนรสิงห์ก็ยอมตายขอให้ประหารชีวิตเพื่อรักษากฎหมาย นอกจากนั้นในสมัยพระเจ้าเสือยังจดจำในเรื่องการขุดคลองพระองค์ทรงให้ขุดคลองมหาชัยเชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำท่าจีนเป็นผลงานสำคัญในการเชื่อมแม่น้ำสายสำคัญในภาคกลาง ทำให้การคมนาคมสะดวกติดต่อกันได้ การขุดคลองดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นชลประทาน แต่เพื่อประโยชน์ในการคมนาคม (การค้าและกาสงคราม) มากกว่า แต่ก็มีผลพลอยได้ในการเปิดที่ดินใหม่เพื่อการเกษตรกรรมอย่างมหาศาล และเป็นกิจกรรมที่เห็นได้มากขึ้นในในสมัยรัตนโกสินทร์ ก่อนที่จะกลายเป็นการขุดคลองเพื่อเปิดที่ดินสำหรับการปลูกข้าวเพื่อส่งออกนับแต่สมัยรัชกาลที่ 4 และที่ 5 เป็นต้นมา พระเจ้าเสือสวรรคตเมื่อพระชนม์พรรษาได้ 45 และพระโอรสก็ขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าท้ายสระ
Hotline 0-936468915, 0-823656241 ใบอนุญาตเลขที่ 11/05028